Shopping Cart

No products in the cart.

เคลือบฟลูออไรด์ ในเด็กจำเป็นแค่ไหน?

เคลือบฟลูออไรด์
  • ฟลูออไรด์ คือแร่ธาตุตามธรรมชาติ เป็นเกลือของธาตุฟลูออรีน ที่พบกระจายอยู่ทั่วไปตามเปลือกโลก มีทั้งในดิน หิน แร่ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ และยังพบได้ในอาหารบางชนิด เช่น แครอท กะหล่ำปลี เป็นต้น ในบางพื้นที่มีการเติมสารฟลูออไรด์ลงในน้ำประปาด้วย
  • เคลือบฟลูออไรด์ คือการใช้สารฟลูออไรด์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่องานทางทันตกรรม เคลือบลงไปบนซี่ฟันของเด็ก เพื่อให้ฟันมีความแข็งแรงมากขึ้น ทนทานต่อกรดของแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้ฟันของเด็กผุยากขึ้น

เนื่องจากเคลือบฟันส่วนชั้นนอกสุดของฟันจะมีการสูญเสียแร่ธาตุ (Demineralization) และจะมีการคืนแร่ธาตุ (Remineralization) เข้าไปใหม่ ในทุกๆ วัน โดยขบวนการทั้งสองนี้จะสร้างความสมดุลในตัวมันเอง แต่ถ้าหากเราสูญเสียเคลือบฟันในปริมาณที่มากจนขาดสมดุล ฟันของเด็กก็จะผุเป็นรูได้

เคลือบฟลูออไรด์ สำหรับเด็กป้องกันฟันผุ
  • ฟลูออไรด์จะช่วยชะลอการสูญเสียแร่ธาตุและส่งเสริมขบวนการคืนกลับของแร่ธาตุบนผิวฟัน ซึ่งจะช่วยยับยั้งการผุของฟันในระยะแรกๆ ได้ (Early white spot lesion)
  • ฟลูออไรด์จะช่วยเสริมความต้านทานต่อกรดให้แก่เคลือบฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง ผุได้ยาก
  • ฟลูออไรด์จะไปรบกวนการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดฟันผุ ขัดขวางการย่อยอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ลดการเกิดกรดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุ
เคลือบฟลูออไรด์ มีวิธีไหนบ้าง
  • เคลือบฟลูออไรด์แบบเจล มีลักษณะการเคลือบฟันแบบใช้ถาดครอบฟันบนและล่าง เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เนื่องจากขั้นตอนการเคลือบต้องอาศัยเครื่องดูดน้ำลายและต้องใช้เวลาในการเคลือบ ซึ่งในเด็กเล็กๆ อาจให้ความร่วมมือได้ไม่นานพอ
  • ขั้นตอนเคลือบฟลูออไรด์แบบเจล เริ่มจากทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขัดฟันให้สะอาด หลังจากนั้นเลือกขนาดของถาดเคลือบฟลูออไรด์ให้เหมาะสม ใส่ฟลูออไรด์เจลลงในถาด แล้วนำไปครอบลงบนฟันบนและฟันล่าง โดยให้เด็กอมถาดครอบฟันเอาไว้เป็นเวลา 1-4 นาที ซึ่งในระหว่างเคลือบฟลูออไรด์เจลอยู่นั้น จะมีการใช้เครื่องมือดูดน้ำลาย (High power suction) ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เด็กกลืนฟลูออไรด์ส่วนเกินลงไป
  • การดูแลเด็กหลังเคลือบฟลูออไรด์แบบเจล คือให้เด็กไม่บ้วนน้ำ งดดื่มน้ำ และงดทานอาหาร เป็นเวลา 30 นาที
เคลือบฟลูออไรด์ ป้องกันฟันผุ
  • เคลือบฟลูออไรด์แบบวานิช เป็นการเคลือบฟลูออไรด์แบบทาฟลูออไรด์ลงไปบนผิวฟันโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้เกิดผลึกแคลเซียมฟลูออไรด์บนผิวฟัน และผลึกตัวนี้จะทำหน้าที่หยุดยั้งการผุของฟันในระยะเริ่มต้นไม่ให้ลุกลามต่อ วิธีนี้สามารถช่วยป้องกันฟันผุในฟันน้ำนมได้ 33% และฟันแท้ได้ถึง46% เหมาะสำหรับผู้มีความเสี่ยงฟันผุสูง และเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ขั้นตอนเคลือบฟลูออไรด์แบบวานิช เริ่มจากทันตแพทย์ขัดฟันให้สะอาดและเป่าลมให้ฟันแห้ง จากนั้นใช้แปรงสำหรับทาฟลูออไรด์วานิชทาลงไปบนผิวฟันทุกซี่ทุกด้าน และมักจะเน้นเป็นพิเศษตรงจุดที่เริ่มมีรอยผุหรือจุดที่มีความเสี่ยงต่อการผุ เช่นในบริเวณที่แปรงเข้าไปทำความสะอาดได้ยาก
  • การดูแลเด็กหลังจากเคลือบฟลูออไรด์วานิช แนะนำให้เลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งๆ หลังจากเคลือบ 2-4 ชั่วโมง และงดการแปรงฟันในวันที่เคลือบฟลูออไรด์วานิช เพื่อเพิ่มเวลาการยึดติด และการปล่อยฟลูออไรด์เคลือบฟัน
เคลือบฟลูออไรด์ - เด็ก
  • เคลือบฟันด้วยซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ เป็นสารที่ใช้ทาในกรณีที่มีฟันผุระยะเริ่มแรก หรือมีฟันผุหลายตำแหน่งในช่องปาก จะช่วยชะลอการผุในเบื้องต้น แล้วทันตแพทย์จะค่อยๆ นัดกลับมาทำการบูรณะฟันอีกครั้งหรือใช้ในกรณีที่เด็กเล็ก ฟันผุไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาและผู้ปกครองยังไม่พร้อมจะรับการรักษา การทาซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ไปก่อน ก็จะช่วยยับยั้งการผุในเริ่มต้นได้ เป็นการรักษาที่สะดวก รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายน้อย แต่ข้อเสียของการทาซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ในฟันที่มีรอยผุเริ่มแรกคือ จะทิ้งรอยด่างดำ หรือน้ำตาลบริเวณที่มีรอยผุไว้ ซึ่งมีผลต่อความสวยงาม
  • ขั้นตอนทาซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ คือกำจัดเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ กันน้ำลายฟันที่มีรอยผุด้วยผ้าก๊อซ เป่าฟันและรอยผุให้แห้ง ใช้ฟองน้ำขนาดเล็กทาซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ลงบนรอยผุ รอให้ซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ซึมสู่เนื้อฟันประมาณ 1 นาที แล้วเช็ดส่วนเกินออกด้วยผ้าก๊อซ
  • การดูแลหลังทาซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ ฟันที่มีรอยผุจะหยุดผุ แต่จะมีสีน้ำตาลหรือดำ ส่วนถ้าโดนเหงือกหรือผิวหนังจะติดเป็นสีฟ้าเทา ซึ่งล้างไม่ออก แต่จะหายไปเองใน 2-3 สัปดาห์ สำหรับรอยผุควรได้รับการทาซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์ซ้ำ โดยทาอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ไปจนกว่ารอยโรคจะหยุดผุ หรือได้รับการบูรณะ
เคลือบฟลูออไรด์ - ซิลเวอร์ไดอะมีนฟลูออไรด์

ทันตแพทย์จะพิจารณาจากความเสี่ยงในการผุของเด็กแต่ละคน กล่าวคือถ้าเด็กมีความเสี่ยงที่จะฟันผุสูง เช่น เด็กยังเลิกขวดนมไม่ได้ตามวัย แปรงฟันไม่ได้ ไม่ร่วมมือในการแปรงฟัน รับประทานขนมบ่อย มีคราบจุลินทรีย์มาก

เพื่อคืนความสดใสให้กับรอยยิ้มของคุณ ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำ และให้บริการตรวจรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันในทุกช่วงวัย

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
ทพญ. เปรมฤดี ปฐมกสิกุล
ทพญ. เปรมฤดี ปฐมกสิกุล
ทันตแพทย์โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์