ฝังเข็ม (Acupuncture) คือศาสตร์การรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรค แขนงหนึ่งในแพทย์แผนจีนที่มีมานานกว่า 5,000 ปี โดยใช้เข็มขนาดเล็ก (ประมาณ 0.1-0.3 mm.) ฝังตามจุดฝังเข็มบนเส้นลมปราน เป็นการปรับอวัยวะและระบบต่างๆ ภายในร่างกายให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล
ปัจจุบันศาสตร์แพทย์แผนจีนมีการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยหลักสูตรการเรียนการสอนได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ผู้ทำการรักษาจะมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะเหมือนแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งการที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาโดยวิธีฝังเข็มนั้น จะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ก่อนว่าสามารถเข้ารับการรักษาได้หรือไม่
อาการแบบไหนบ้างที่รักษาได้ด้วยการฝังเข็ม?
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรองให้การฝังเข็มเป็นศาสตร์การรักษาโรคแขนงหนึ่งและยังมีหลายงานวิจัยพบว่า การฝังเข็มให้ผลการรักษาโดดเด่นกับกลุ่มอาการและโรคหลายๆ โรค เช่น กลุ่มอาการปวดต่างๆ โรคทางระบบทางเดินอาหาร โรคทางสูตินารีเวช เป็นต้น การรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่า หรือ มากกว่าการใช้ยา โดยปลอดภัย และ ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย
กลุ่มอาการแบบไหน รักษาด้วยการฝังเข็มได้ผลดี
- กลุ่มอาการปวด เช่น ปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากการออกกำลังกาย
- หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เวียนศีรษะ
- โรคระบบทางเดินอาหาร โรคกระเพาะอักเสบ กรดไหลย้อน
- โรคทางสูตินรีเวช ปวดประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก
- โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน
- โรคทางระบบประสาทอัมพฤกษ์ อัมพาต อัมพาตใบหน้า
- นอนไม่หลับ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า
- ปรับสมดุลร่างกาย เพิ่มภูมิต้านทาน
- ฝังเข็มเสริมความงาม กระชับ ลดสิว ฝ้า กระ ริ้วรอย หรือลดความอ้วน
การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร?
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน บริเวณต่างๆ ทั่วร่างกาย มีพลังงานไม่เท่ากัน (ภาษาจีนเรียกพลังงานไหลเวียนนี้ว่า ‘ชี่’) การฝังเข็มจะเป็นการใช้เข็มฝังบริเวณที่เป็นเส้นลมปรานของร่างกายเป็นการช่วยกระตุ้นลมปราณ (ชี่) และเลือดให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยระบายเลือดที่คั่งเนื่องจากการไหลเวียนไม่ดี ระบายความร้อน หรือสารพิษ เป็นการบำรุง ซ่อมแซม และฟื้นฟูร่างกายที่เสียสมดุลไปให้กลับเข้าสู่สมดุล
ต้องรักษาด้วยการฝังเข็มกี่ครั้ง และบ่อยแค่ไหน?
การรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ และพื้นฐานร่างกายของผู้ป่วยเอง โดยทั่วไปฝังเข็มสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ หรือทั้งหมด 10 ครั้ง ภายใน 1 เดือน ตามแต่ความรุนแรงของอาการ บางครั้งจะต้องมีการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สมุนไพรจีน การครอบแก้ว หรือการนวดกดจุด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อยลง
ใครบ้างไม่ควรรับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม?
- เป็นโรคติดเชื้อต่างๆ หรือโรคผิวหนัง
- เป็นโรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รักษา
- เป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
เตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ารับการฝังเข็ม?
- รับประทานอาหารก่อนเข้ารับการรักษา 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเป็นลมสำหรับคนที่มีอาการกลัวเข็ม
- ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่บีบรัด เพื่อให้เลือดลมเดินสะดวกช่วงที่มีการฝังเข็ม
- สำหรับผู้ที่ทานยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า