เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาสุขภาพก็มักติดตามมาอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะไม่แสดงอาการภายนอกให้เห็น แต่ภายในได้รับความเสียหายบริเวณหลอดเลือดและหัวใจเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หรือโรคไตวายเรื้อรัง โดยความผิดปกติอย่างหลังนี้นอกจากจะอันตรายถึงแก่ชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย
ว่าแต่ภาวะความดันโลหิตสูงกับโรคไตวายเรื้อรัง ทั้งสองมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร แล้วจะมีวิธีการรักษาทางการแพทย์ใดบ้างที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าอยากรู้ บทความนี้มีคำตอบ เอาล่ะอย่ารอช้า เราไปดูคำตอบที่ว่าพร้อมๆ กันเลย!
สาเหตุการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
ทางการแพทย์จะแบ่งโรคความดันโลหิตสูงออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด (Essential Hypertension) ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วนชนิดที่สองคือความดันโลหิตสูงแบบทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มากระตุ้นจนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น โรคทางต่อมไร้ท่อ โรคทางต่อมหมอกไต โรคไตอักเสบที่ต่อมาพัฒนากลายเป็นโรคไตวายเรื้อรัง อาการครรภ์เป็นพิษ หรือผลกระทบจากการทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตชนิดแรกพบได้บ่อยกว่าชนิดที่สองอยู่ดี เพราะมีสาเหตุการเกิดโรคที่กว้างขวางกว่ามาก ไม่ว่าจะประวัติการเป็นโรคความดันโลหิตสูงของคนในครอบครัวหรืออายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ อีกด้วย เช่น การทานอาหารที่มีรสเค็มจัดๆ อย่างอาหารแปรรูป, การพักผ่อนน้อย และไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
อาการของโรคความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
โดยส่วนมากจะไม่แสดงอาการภายนอกให้เห็น ซึ่งผู้ป่วยหลายรายก็แทบจะไม่รู้ตัวเองเลยว่ากำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่จนกว่าจะได้วัดความดันโลหิตอย่างจริงจัง หากแต่ผู้ป่วยอาจแสดงอาการตอบสนองอื่น ๆ ออกมาเมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูงมากๆ เช่น อาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย, อาการมึนงง, คลื่นไส้อาเจียน หรือหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งผู้ป่วยสามารถเช็กภาวะความดันโลหิตสูงจากที่บ้านเองได้ โดยให้สังเกตค่าการวัดความดันจากตัวเครื่อง หากความดันตัวบนมีค่ามากกว่า 130 และค่าตัวล่างมีมากกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท นั่นก็แปลว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ความสัมพันธ์ระหว่างโรคความดันโลหิตสูงและโรคไตวายเรื้อรัง
การที่ภายในร่างกายมีความดันในเลือดสูงมาก ก็อาจส่งผลให้เส้นเลือดทั่วร่างกายถูกทำลายและสร้างความเสียหายต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด, เส้นเลือดสมองตีบหรือแตก รวมถึงการทำงานของไตเสื่อมสภาพลงจนก่อให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังในเวลาต่อมา
วิธีการดูแลรักษาภาวะความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
ขั้นตอนการรักษามีด้วยกัน 2 วิธีคือ การทานยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ ได้แก่ การงดอาหารรสเค็ม อาหารแปรรูป น้ำซุป อาหารทอด หรืออาหารหมักดอง เป็นต้น เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีส่วนผสมของเหลือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด หมั่นออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากหากไม่ปฏิบัติตามไตอาจเสื่อมและกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้ในท้ายที่สุด
ถัดมาในส่วนของอาหารจำพวกที่มีกากใยสูงอย่าง ผักและผลไม้สด แพทย์แนะนำให้รับประทานเป็นประจำเพราะสามารถช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูงลงได้ แต่จากเนื่องด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันที่เร่งรีบ ผนวกกับความเครียดสะสม จึงทำให้แม้คุณจะอายุยังน้อยก็มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วยเช่นกัน และหากเราไม่สามารถควบคุมความดันให้กลับมาอยู่ในระดับปกติได้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการเกิดโรคไตวายเรื้อรังได้รวดเร็วกว่าปกติ
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในการป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง
- เลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด และทานอาหารจำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น
- ไม่แนะนำให้ซื้อยาทานเอง เช่น ยาสมุนไพร, ยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อดูอาการก่อนจะดีกว่า
- ตรวจความดันโลหิตบ้างเป็นครั้งคราว เพราะหากพบความผิดปกติจะได้รีบทำการรักษาโดยทันที
สรุป
โรคความดันโลหิตสูงมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ แบบทราบและไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด ซึ่งอย่างหลังมักพบมากในผู้สูงอายุและผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ตลอดจนกลายเป็นโรคไตวายเรื้อรังในท้ายที่สุด ฉะนั้น สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีภาวะความดันโลหิตสูง แพทย์จึงแนะนำให้ทานผักผลไม้มาก ๆ งดอาหารรสเค็ม, ไม่ซื้อยาทานเอง และหมั่นออกกำลังกาย เพื่อเป็นการลดระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
ส่วนใครที่มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตหรือโรคไตวายเรื้อรัง ก็สามารถติดต่อมาที่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาและทำการรักษาอย่างเหมาะสมตามอาการของผู้ป่วย