Shopping Cart

No products in the cart.

มะเร็งกล่องเสียง ภัยร้ายจากบุหรี่และแอลกอฮอล์

มะเร็งกล่องเสียง หรือ Laryngeal Cancer คือมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณกล่องเสียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินหายใจ อยู่บริเวณลำคอ โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โดยมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเสียงแหบ ผิดปกติในการส่งเสียง หรือเสียงเปลี่ยนไป เจ็บคอ ปวดคอ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ เช่น หายใจเสียงดัง หรือปัญหาการหายใจ เนื่องจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ 

 

มะเร็งกล่องเสียง เกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุหลักคือการระคายเคืองเรื้อรังบริเวณเยื่อบุผิวกล่องเสียงและเส้นเสียง  ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเซลล์มะเร็งจะสะสมของความผิดปกติในเซลล์ของเยื่อบุผิว จนกลายเป็นมะเร็ง การสูบบุหรี่มีสารที่ระคายเคือง และเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อ ทั้งบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้า การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการทำลายเยื่อบุผิวซ้ำ ๆ  นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น การสูดดมควันไฟฟ้า และการสัมผัสต่อสารเคมีพวกไอระเหยที่อันตรายในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

สาเหตุ มะเร็งกล่องเสียง Laryngeal Cancer

อาการมะเร็งกล่องเสียง หรือสัญญาณเตือน

มะเร็งชนิดนี้ไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนที่แน่ชัดในช่วงระยะแรกของโรค อาการจะแตกต่างไปตามตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก แต่ละระยะของโรค อาการที่พบบ่อยในระยะแรก ๆ สามารถเป็นได้ทั่วไป เช่น คออักเสบที่ไม่หาย อาการเจ็บคอเป็นๆ หาย ๆ หรือไอปนเลือด และผู้ป่วยอาจมีเสียงแหบร่วมด้วยได้ หรือการหายใจติดขัด  ดังนั้นหากพบว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างบ่อยควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและตรวจคัดกรองโรคให้ทันท่วงที

อาการ มะเร็งกล่องเสียง Laryngeal Cancer

มะเร็งชนิดนี้อันตรายแค่ไหน

มะเร็งกล่องเสียง เป็นโรคที่อันตรายและสามารถกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้หลายด้าน โดยเฉพาะกับการพูดและการหายใจ โรคนี้อาจกระทบต่อการสื่อสารระหว่างบุคคล ซึ่งอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนในสังคม อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ และแทรกซ้อนของโรคทางเดินหายใจ อีกด้วย ซึ่งถ้าตรวจพบมะเร็งในระยะหลัง ๆ จะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นมากกว่าพบในระยะแรก ๆ การรักษาอาจมีผลข้างเคียง เช่น การผ่าตัดหรือการใช้รังสี ที่อาจส่งผลต่อการพูดและการหายใจของผู้ป่วย ดังนั้นการรักษาและการดูแลผู้ป่วยต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตและความเหมาะสมของการรักษาด้วย

การตรวจวินิจฉัย

เริ่มต้นจาการตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจสอบร่างกายของผู้ป่วย เพื่อหาตำแหน่งที่เป็นไปได้ของเนื้องอก และต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และใช้เครื่องมือช่วยให้มองเห็นได้ชัดขึ้น ได้แก่ กล้องส่องตรวจกล่องเสียง (laryngoscopy) เพื่อช่วยในการตรวจหาเนื้องอกที่อยู่ส่วนลึก ในช่องปากและลำคอ รวมถึงตรวจการเคลื่อนไหวของเส้นเสียงได้ด้วย แพทย์จะใช้วิธีการนี้เพื่อตรวจสอบสภาพของกล่องเสียงและลำคอของผู้ป่วย เพื่อหาเนื้องอกและวินิจฉัยว่ามีอาการของมะเร็งหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้การส่องแสงพิเศษ (NBI or I-scan) ที่จะได้ให้เห็นบริเวณที่เป็นมะเร็งชัดขึ้น  ส่วนการทำการตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) จะทำหลังจากการวินิจฉัยแล้ว เพื่อประเมินระยะและความรุนแรงของมะเร็งเพื่อวางแผนผ่าตัดต่อไป

มะเร็งกล่องเสียง อันตรายแค่ไหน

สามารถรักษาได้กี่วิธี แบบไหนได้บ้าง

การรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดของมะเร็ง และระยะของโรค โดยวิธีที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ได้แก่
  • ผ่าตัดเอามะเร็งออก: เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์จะผ่าตัดเนื้องอกที่เป็นมะเร็งออกจากกล่องเสียง โดยอาจต้องใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องหรือแบบเปิด ร่วมกับอาจต้องมีท่อเจาะคอ ในมะเร็งระยะที่ 3-4 ภายหลังการผ่าตัดแพทย์จะส่งต่อไปทำการฉายแสงรังสีรักษาเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการหายของโรค
  • ใช้รังสีรักษา: เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้รังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นวิธีการที่ใช้ได้กับเนื้องอกขนาดเล็ก และระยะต้นๆ โดยที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่ในผู้ป่วยระยะ 3-4 จำเป็นต้องให้เคมีบำบัดร่วมด้วย
  • รักษาด้วยเคมีบำบัด: เป็นวิธีการรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง วิธีนี้มักใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือร่วมกับรังสีรักษา
  • ใช้ยามะเร็งมุ่งเป้า: ปัจจุบันมีใช้ในการศึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด และไม่สามารถผ่าตัดให้หายขาดได้ การใช้ยาจะลดขนาดมะเร็ง และทำให้ไม่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ มากกว่าเดิม

มะเร็งกล่องเสียง รักษาได้กี่วิธี อะไรบ้าง
วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้ดีขึ้น วิธีการดูแลตัวเองที่แพทย์แนะนำมีดังนี้
  • ดูแลแผลผ่าตัด: ควรเช็ดแผลเบา ๆ ด้วยน้ำอุ่นหรือยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ 2 ครั้งต่อวัน
  • ดูแลท่อเจาะคอ : ในช่วงต้น ๆ หลังผ่าตัดอาจมีการเจาะคอเพื่อช่วยหายใจ ควรดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับการดูแลแผลผ่าตัด เพื่อให้ได้หายใจได้อย่างสะดวก และป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่หลอดลม
  • ออกกำลังกาย: หลังการผ่าตัด ควรรักษาความแข็งแรงให้ดีและเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง ระยะแรก ๆ สามารถเดินไปมา ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ควรรอจนกว่าแพทย์จะแนะนำให้เริ่มออกกำลังกายเป็นอย่างดี
  • รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์: ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนเพียงพอ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่หมักดอง เพื่อการหายของแผล

มะเร็งกล่องเสียง Laryngeal Cancer

การป้องกันตัวเองเพื่อลดความเสี่ยง

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และใช้สารเคมี ที่เป็นพิษและระคายเคืองต่อเส้นเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจ
  • รักษาสุขภาพให้ดีโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสมดุลย์ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ใช้หน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันเมื่อทำงานในสภาวะที่มีฝุ่น, ควันหรือสารพิษอากาศ
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช่น ตรวจสุขภาพทางหู คอ จมูกเพื่อค้นหามะเร็งอย่างน้อยปีละครั้ง
  • หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง ควรตรวจสุขภาพทางหู คอ จมูกเป็นประจำเพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าว

ผศ.พญ.อลีนา สรรค์ธีรภาพ

การปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงได้โดยมีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตามไม่มีวิธีการป้องกันโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้แบบสมบูรณ์ ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงถ้ามีอาการผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อได้รับการวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ติดต่อ ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา ของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ได้ที่ 062 590 1919

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
ผศ.พญ.อลีนา  สรรค์ธีรภาพ
ผศ.พญ.อลีนา สรรค์ธีรภาพ
แพทย์ที่ปรึกษาหู คอ จมูก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์