ผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิดในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และกรดไหลย้อน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการักษาและการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันเพื่อทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้น
อาการลองโควิดในระบบทางเดินอาหาร
‘ลองโควิด’ (Long COVID) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการสืบเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เริ่มต้นตั้งแต่ได้รับการติดเชื้อหรือว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นในภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาการลองโควิดสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 4 สัปดาห์เป็นต้นไปจนกระทั่ง 3-6 เดือน หลังจากการรักษาโควิด-19 แล้ว
ทั้งนี้ภาวะลองโควิดเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบหัวใจ ระบบประสาท และที่สำคัญคือระบบทางเดินอาหาร โดยภาวะลองโควิดทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กรดไหลย้อน โดยเฉลี่ยแล้วอาการเหล่านี้พบได้ 10-20% ซึ่งอาจจะไม่รุนแรงแต่สามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ จำเป็นจะต้องพบแพทย์รับคำแนะนำและรักษาเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ
85% ของผู้ป่วยโควิด-19 ยังพบเชื้อในทางเดินอาหาร
จากการรายงานพบว่า 10-29% ของผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการโรคทางเดินอาหารร่วมด้วย ถึงแม้ว่าโควิด-19 จะเข้าสู่ร่างกายด้วยระบบทางเดินหายใจ หรือ เยื้อบุต่างๆ ก็ตาม แต่พบว่า 85% ของผู้ป่วยโควิด-19 สามารถตรวจพบเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้ และอยู่ยาวนานในร่างกาย 4-7 เดือน โดยในระยะเวลา 4 เดือน จะพบถึง 12% และพบ 3% ที่ 7 เดือน การที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในระบบทางเดินอาหารสามารถทำให้เกิดอาการ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย 10% และกรดไหลย้อน 20% ปัจจุบันมีข้อมูลรายงานชัดเจนว่าการที่เรายังมีเชื้ออยู่ในระบบทางเดินอาหารจะสัมผัสกับอาการของภาวะลองโควิดที่เกิดขึ้นด้วย
ลองโควิด ต้องตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารหรือไม่
ผู้ป่วยที่มาด้วยเรื่องของปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน กรดไหลย้อน ที่เป็นมากขึ้นหรือแม้กระทั่งท้องเสียในผู้ป่วยภาวะลองโควิด การพบแพทย์มีส่วนสำคัญเพื่อตรวจเพิ่มเติม หรือ วินิจฉัยเพื่อให้ตรงกับโรค ไม่ว่าจะเป็นการตรวจอุจจาระ ตรวจอัลตราซาวนด์ หรือการตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งการส่องกล้องช่วยให้แพทย์สามารถเห็นความผิดปกติของเยื้อบุผิวของผนังกระเพาะอาหาร ผนังลำไส้หรือไม่ ซึ่งอาจไม่ส่งผลมาจากภาวะลองโควิดอย่างเดียว อาจจะเป็นภาวะที่มีเรื้อรังอยู่เดิมที่ได้รับการวินิจฉัย เช่น การตรวจเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาให้หายได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ