Shopping Cart

No products in the cart.

RSV…ไวรัสวายร้ายที่พ่อแม่ควรรู้

เปิดเทอมแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวล นอกจากการปรับตัวของลูกน้อยแล้ว เรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลให้กับทุกครอบครัว โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เนื่องจากภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ การเจ็บป่วยในบางโรคอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี หรือหลายคนเรียกสั้นๆ ว่า โรค RSV เป็นหนึ่งในโรคที่น่ากลัว และไม่มีใครอยากให้เกิดกับลูกน้อย แต่เป็นโรคที่พบระบาดบ่อยในเด็กเล็กวัยเรียน เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า Respiratory Syncytial Virus ซึ่งไวรัสชนิดนี้ ก่อให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักมีการระบาดของโรคทุกปีในช่วงปลายฝนต้นหนาว

สังเกตลูกน้อยป่วย RSV หรือไม่?

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มีโอกาสติดเชื้อไวรัส RSV ได้ โดยติดต่อผ่านทางการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น ของเล่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น หลังจากที่ได้รับเชื้อไวรัส RSV มาแล้วจะแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน และช้าที่สุดประมาณ 8 วัน แต่โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่อยู่ที่ 4-6 วัน
อาการของโรค RSV จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป เช่น ไข้ ไอจาม คัดจมูก มีน้ำมูก แต่ในเด็กกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ อาจมีอาการรุนแรงและมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างได้ (หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบ) โดยมักมีอาการ ไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด ซึ่งบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนจนทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและมีโอกาสเสียชีวิตได้

ลูกป่วยอย่านิ่งนอนใจ พบหมอเร็ว ลดการแพร่เชื้อ

ด้วยอาการของโรคที่เหมือนกับไข้หวัด ทำให้บางครอบครัวมองข้าม และปล่อยจนเกิดอาการรุนแรง รวมถึงอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ หากผู้ป่วยยังไปโรงเรียน สถานที่สาธารณะ หรือสถานที่แออัด การพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทุกครั้งที่มีอาการป่วย จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพราะสามารถตรวจพบเชื้อ RSV ได้ โดยการป้ายน้ำมูกไปตรวจ ช่วยในการคัดแยกผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค

เป็นโรค RSV รักษาหายหรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค RSV ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ การให้สารน้ำที่เหมาะสม ในผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อที่หลอดลมหรือเนื้อปอด จำเป็นต้องให้พ่นยาขยายหลอดลม เคาะปอด และดูดเสมหะร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายจากโรคได้เอง ในเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีไข้สูง หายใจหอบเหนื่อยหรือหายใจเสียงหวีด ปากเขียว ซึมลง รับประทานอาหารไม่ได้ ควรรีบมาพบแพทย์

เน้นความสะอาด ป้องกันลูกน้อยจากเชื้อ RSV ได้

ในปัจจุบันโรค RSV ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การดูแลเด็กๆ ไม่ให้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ทำได้โดย
1. หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ทั้งของลูกน้อยและสมาชิกทุกคนในบ้าน
2. ทำความสะอาดบ้าน และของเล่นเด็กเป็นประจำ
3. ไม่ใช้ช้อนส้อม และแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น เมื่อรับประทานอาหาร
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไป มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
5. ในช่วงการระบาดของโรค งดพาเด็กไปที่ชุมชนแออัด และเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. กฤติญา ชัยโชติจินดา
พญ. กฤติญา ชัยโชติจินดา
กุมารแพทย์ทั่วไปและสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์