การทดสอบโรคภูมิแพ้ เป็นการทดสอบทำให้รู้ถึงสิ่งที่เราแพ้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เราสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น ทั้งจากการตั้งใจ หรือจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำไปสู่การป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างจากความเสี่ยงที่เกิดจากการแพ้
การทดสอบภูมิแพ้ มี 2 วิธี
- เจาะเลือด (Serum Specific IgE)
- สะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test)
ทั้งนี้ การเลือกวิธีทดสอบในโรคภูมิแพ้ จะเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วย ซึ่งการทดสอบแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป
ทดสอบภูมิแพ้ ด้วยวิธีเจาะเลือด (Serum Specific IgE)
การตรวจเลือดหาภูมิต้านต่อสารก่อภูมิแพ้ คือการตรวจเลือดเพื่อหาระดับภูมิ ต่อต้านที่จำเพาะต่อโปรตีนของสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด โดยความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกับการทดสอบทางผิวหนัง
ข้อดี
- ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ อาหาร แต่ต้องงดยาแก้แพ้ทุกชนิด ก่อนการตรวจ อย่างน้อย 7 -10 วัน
- เจ็บตัวครั้งเดียวตอนเจาะเลือด เหมาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาแพ้ทางผิวหนัง (Atopic dermatitis)
ข้อเสีย
- ยังไม่สามารถรู้ผลได้ทันที ต้องรออย่างน้อย 3-4 วัน
- ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ทดสอบภูมิแพ้ ด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test)
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังแบบสะกิด คือการหยดน้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา นมวัว ไข่ หรืออาหารทะเล ลงไปบนผิวหนังบริเวณที่ต้องการทดสอบ ในผู้ใหญ่และเด็กโต มักทำบริเวณแขนท่อนล่างด้านใน แล้วใช้ปลายเข็มสะกิดเพื่อให้น้ำยาสามารถซึมเข้าสู่ใต้ผิวหนัง รออ่านผล 15 นาที เพื่อดูว่าแพ้สารใด หากเกิดอาการแพ้ จะมีตุ่มนูนแดง และคัน บริเวณตำแหน่งที่หยดน้ำยาชนิดต่างๆ การทดสอบวิธีนี้ใช้ปริมาณน้ำยาก่อภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย (ประมาณเม็ดถั่วเขียว) โอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายนั้นมีน้อยมาก
ประโยชน์
- เพื่อวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ ร่วมกับอาการทางคลินิก
- เพื่อใช้ในการติดตามผลการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนัง
ประเภทของการทดสอบ
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร ที่เกิดจากอาหารที่รับประทานกันเป็นประจำ เช่น นมวัว ไข่ขาว ไข่แดง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง เนื้อหมู และอาหารทะเลหลากหลายชนิด เป็นต้น
- การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเพื่อทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ ที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว ขนสุนัข และเชื้อรา เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนทดสอบภูมิแพ้ ด้วยวิธีสะกิดผิวหนัง
- งดรับประทานยาแก้แพ้ ยาสเตียรอยด์ ก่อนทำการทดสอบ 1-2 สัปดาห์
- หากมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาใดๆ อยู่ ควรแจ้งแพทย์ก่อนทำการทดสอบ เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลต่อการทดสอบ
- ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ อาหาร
- พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ควรมีไข้ หรืออาการเจ็บป่วยใดๆ ก่อนการทดสอบ
- ไม่ควรทาโลชั่นบำรุงผิวบริเวณแขนทั้ง 2 ข้าง ในวันที่จะทำการทดสอบ เพราะจะทำให้น้ำทดสอบ ไม่เกาะติดที่ผิวหนัง และเสียเวลาในการล้างออกก่อนทำ
ขั้นตอนการทดสอบภูมิแพ้ สะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test)
- ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ต้องการทดสอบโดยเช็ดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์
- ขีดเส้น เพื่อแสดงตำแหน่งที่จะหยดน้ำยาชนิดต่างๆ สำหรับการทดสอบ
- หยดน้ำยาทดสอบลงบนผิวหนังที่ทำเครื่องหมายไว้จนครบจำนวนที่ต้องการทดสอบ
- ใช้ปลายเข็มปราศจากเชื้อขนาดเล็กสะกิดผิวหนังผ่านบริเวณที่หยดน้ำยา
- รออ่านผลประมาณ 15 นาที โดยจะปรากฎเป็นตุ่มนูน แดง คันบริเวณที่มีการแพ้
- แปลผลปฎิกิริยาทางผิวหนังต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ด้วยการวัดขนาดตามอาการบวมแดงของผิวหนัง
- อาการบวมแดงที่ผิวหนัง ที่เกิดจากการทดสอบ อาจจะคงอยู่ประมาณ 1-2 ชม. และจะหายไปเอง
ข้อดี
- สามารถทราบผลการทดสอบได้ภายใน 15 นาที
- สามารถทดสอบสารก่อภูมิแพ้ได้หลายชนิดพร้อมกัน
ข้อเสีย
- ต้องหยุดยาแก้แพ้ทุกชนิด อย่างน้อย 7 -10 วัน
โดยทั่วไปพบว่าความไวและความแม่นยำในการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ ทั้ง 2 วิธีนี้ไม่แตกต่างกัน การเลือกใช้การทดสอบวิธีใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย และแพทย์จะให้คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาให้ถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไป เช่นกัน