Shopping Cart

No products in the cart.

เวียนหัว บ้านหมุน…อันตรายกว่าที่คิด

อาการเวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo) กว่า 70% เกิดจากความผิดปกติในระบบหูชั้นใน โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนบ้านหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนได้ ซึ่งที่จริงแล้วไม่มีการเคลื่อนไหวนั้นเกิดขึ้นจริง และมักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก เป็นต้น

 

เวียนหัว บ้านหมุน’ ที่เกิดจากความผิดปกติในระบบหูชั้นใน มักเรียกว่า ‘น้ำในหูไม่เท่ากัน’ แบ่งออกเป็น 2 โรค ได้แก่

  1. เวียนหัวบ้านหมุนที่เกิดจากภาวะหินปูนหลุด ทำให้การไหลเวียนของน้ำในหูชั้นในไม่เท่ากัน ไม่สมดุล ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนเมื่อเปลี่ยนแปลงตำแหน่งศีรษะ ไม่พบการได้ยินบกพร่องขณะมีอาการ
  2. เวียนหัวบ้านหมุนที่เกิดจากน้ำคั่งในหูชั้นใน หรือที่เรียกว่าโรคมีเนียร์ เกิดจากคั่งหรือบวมน้ำในหูชั้นใน ก่อให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน พร้อมกับการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว มีเสียงวี้ รู้สึกแน่นเหมือนมีแรงดันในหูข้างที่มีอาการ

เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo)

การตรวจวินิจฉัยและรักษา

สามารถตรวจแยกได้จากลักษณะอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจการได้ยิน และตรวจคลื่นการได้ยินพิเศษ นอกจากนั้นจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคจากประสาทหูชั้นในอักเสบ เส้นประสาทหูที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวอักเสบ และเนื้องอกของเส้นประสาทหูอีกด้วย

  • หินปูนหลุด เป็นภาวะที่พบได้มากที่สุดของผู้ป่วยเวียนศีรษะที่มาพบแพทย์ จึงจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยแยกโรคออกไปก่อนทุกครั้ง ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนรุนแรงขณะเคลื่อนไหวศีรษะไปในท่าทางที่ทำให้เกิดอาการ ใช้เวลาไม่นาน น้อยกว่า 1 นาที จะหยุดเมื่อศีรษะอยู่นิ่ง
  • ตรวจร่างกาย จะทำ Dix-Hallpike & Supine Roll Test เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค และกำหนดท่ากายภาพที่จำเพาะเพื่อเอาหินปูนที่หลุดกลับเข้าที่ที่มันควรอยู่ อาการจะดีขึ้นมากหลังได้ทำกายภาพนั้นแล้ว
  • กายภาพบำบัด หรือ Canal Repositioning Procedure มีหลากหลายวิธี ขึ้นกับรอยโรคที่เป็น ที่ได้จากการตรวจร่างกายข้างต้น บางรายอาจจะมีรอยโรคได้หลายตำแหน่ง จะสามารถจำแนกได้ถึง 8 ลักษณะอาการ ที่ต้องการกายภาพที่จำเพาะเจาะจง
  • น้ำคั่งในหูชั้นใน หรือที่เรียกว่าโรคมีเนียร์ ควรควบคุมอาหารเค็ม และได้ยาลดอาการเวียนศีรษะ ทั้งเพื่อป้องกันและรักษาโรคให้สงบ

เวียนหัว บ้านหมุน (Vertigo)

‘เวียนหัว บ้านหมุน’ ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด วิตกกังวล และพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม
  • หลีกเลี่ยงเสียงดัง และกระทบกระเทือนบริเวณหู
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. สดมภ์ เพียรพินิจ
นพ. สดมภ์ เพียรพินิจ
หัวหน้าแพทย์ประจำสาขาหู คอ จมูก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์