Shopping Cart

No products in the cart.

ปวดกระเพาะอาหาร…รักษาได้ด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน

รู้จัก ‘โรคปวดกระเพาะอาหาร’ ในทรรศนะของแพทย์แผนจีน

‘ปวดกระเพาะ’ เป็นอาการที่เกิดได้บ่อย และเกิดได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีมากมายหลายสาเหตุ โรคปวดกระเพาะอาหาร โดยนิยามจะหมายถึงอาการอักเสบในกระเพาะอาหาร ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร โดยโรคเหล่านี้มีอาการเด่นชัดคือ ปวดบริเวณกระเพาะอาหาร คือบริเวณตรงกลางอกเหนือสะดือประมาณ 1 ฝ่ามือ

 

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคปวดกระเพาะอาหาร

  • เกิดจากทานอาหารรสจัด หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา การทานอาหารไม่ตรงเวลาจะทำให้กรดที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร หลั่งออกมากัดกระเพาะ ในระยะยาวจะทำให้เกิดอาการปวดกระเพาะอาหารได้
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำย่อมมีผลให้เกิดอาการปวดกระเพาะอาหารได้
  • ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดมาก หรือมีความเครียดบ่อยๆ มีผลให้การหลั่งกรดในกระเพาะอาหารผิดปกติ จึงทำให้เกิดอาการปวดกระเพาะอาหารได้

  • การใช้ยาบางชนิด เกิดจาการทานยาที่มีฤทธิ์ระคายเคือง หรือกัดกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน ทำให้กระเพาะอาหารได้รับความเสียหายจนเกิดอาการปวดกระเพาะอาหารได้
  • ติดเชื้อ อีกสาเหตุหนึ่งของการปวดกระเพาะอาหารเกิดจากการติดเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเชื้อตัวนี้จะอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเชื้อโรคนี้จะฝังตัวอยู่ในกระเพาะอาหาร และทำการปล่อยสารพิษทำให้เกิดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร และทำลายผนังกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดกระเพาะอาหารได้

แพทย์แผนจีนมองโรคกระเพาะอาหาร
ได้รับผลกระทบจากภายนอก การรับประทาน
อาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ความซึมเศร้า
ทำให้ชี่ตับติดขัด ตับและม้ามพร่อง
ชี่ตับและม้ามติดขัด

อาการของโรคปวดกระเพาะอาหาร

  • ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว
  • อาการปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหาร หรือยาลดกรด ผู้ป่วยบางคนอาการปวดจะเป็นมากขึ้นหลังทานอาหาร โดยเฉพาะหลังทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น
  • อาการปวดมักเป็น ๆ หาย ๆ มานานเป็นปี โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลาย ๆ เดือน จึงกลับมาปวดอีก
  • ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว
  • บางรายจะไม่มีอาการปวดท้อง แต่จะมีอาการแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีอาการท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังกินอาหารท้องจะอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโกรกกราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อ หรือช่วงเช้ามืดผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อยลง และน้ำหนักลดลงบ้างเล็กน้อย

รักษาอาการปวดกระเพาะอาหารทางแพทย์แผนจีน

1.ทานยาสมุนไพรจีน ยาสมุนไพรจีนเป็นยาที่มีสรรพคุณตาม แต่ละกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยเป็น เช่น
  • กลุ่มอาการความเย็นชื้นกระทบกระเพาะ ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ อบอุ่นกระเพาะอาหาร ขับชื้น บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะอาหาร
  • กลุ่มอาการปวดกระเพาะอาหารตามกลุ่มอาการความร้อนชื้นสะสมในกระเพาะ ทานยาสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณ ขับร้อน ขับชื้น บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะอาหาร
2.ฝังเข็ม ปรับสมดุลร่างกายตามแต่ละกลุ่มอาการ
  • กลุ่มอาการปวดกระเพาะอาหารตามกลุ่มอาการมีความเย็นพร่องในม้ามและกระเพาะอาหาร
    ฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ อบอุ่นม้าม อบอุ่นกระเพาะอาหาร บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะอาหาร
  • กลุ่มอาการปวดกระเพาะอาหารตามกลุ่มอาการชี่ตับกระทบกระเพาะอาหาร ฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ ระบายชี่ตับ บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะอาหาร
  • กลุ่มอาการปวดกระเพาะอาหารตามกลุ่มอาการชี่ติดขัด และเลือดคั่ง ฝังเข็มตามจุดเส้นลมปราณที่มีสรรพคุณ ระบายชี่ตับ เพิ่มการหนุนเวียนของชี่ สลายเลือดคั่ง บำรุงม้าม บำรุงกระเพาะอาหาร

คำแนะนำจากแพทย์แผนจีน

  1. รับประทานอาหารให้ถูกวิธี โดยทานอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่ทานอาหารมากเกินไป ไม่ควรทานดึก งดทานอาหารที่ทำให้อืดแน่นท้อง และงดอาหารที่กัดกระเพาะ
  2. ไม่ควรนอนดึก เกินกว่า 22.00 น.
  3. ควรดื่มน้ำให้ได้วันละ 1.5-2 ลิตร โดยใช้การจิบตลอดทั้งวัน
  4. ควรทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ให้น้อย ควรทานผักให้มาก
  5. ควรงดอาหารประเภท มัน ทอด ปิ้ง ย่าง
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
แพทย์จีน ฆรวรรณ ชินวรปัญญา
แพทย์จีน ฆรวรรณ ชินวรปัญญา
แพทย์แผนจีน โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์