Shopping Cart

No products in the cart.

คุณรู้จัก มะเร็งเต้านม ดีแค่ไหน?

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) ยังคงเป็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงวัยทำงานที่มีอายุน้อย ตั้งแต่ 24 ปีขึ้นไป ทั้งนี้อาการมะเร็งเต้านมในระยะแรกอาจไม่แสดงอย่างชัดเจน ต้องใช้การสังเกต สำรวจเต้านมของตัวเองเป็นหลัก โดยศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ที่พร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางโรคเต้านมและทีมสหสาขาวิชาชีพมีคำแนะนำเกี่ยวกับการสังเกตอาการเริ่มต้น รวมไปถึงการตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร? 

มะเร็งส่วนใหญ่เกิดจากการกลายพันธุ์แบบโซมาติก (Somatic mutation) เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังและมีโอกาสสูงขึ้นเมื่อบุคคลนั้นๆ มีอายุมากขึ้น เซลล์ที่กลายพันธุ์ไปจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด ซึ่งการกลายพันธ์แบบโซมาติกจะไม่พบในทุกเซลล์ของร่างกายและไม่ส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก

ทั้งนี้การกลายพันธุ์ของเซลล์ตั้งแต่ในระยะเซลล์อสุจิหรือเซลล์ไข่ ส่งผ่านโดยตรงจากพ่อแม่ไปยังเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เรียกการกลายพันธุ์พันธุกรรมที่ถ่ายทอดนี้ว่า ‘พันธุกรรมมะเร็ง’ (Germline mutation) ในปัจจุบันพบว่าพันธุกรรมมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สามารถตรวจพบในยีน (Gene) พบได้ประมาณ 5-10 % มียีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ยีน BRCA

สำหรับยีน BRCA มี 2 ชนิด ได้แก่ ยีน BRCA1 และยีน BRCA2 เป็นกลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ (Tumor Suppressor Gene) ในเซลล์ปกติ ยีน BRCA1 และยีน BRCA2 เป็นยีนปกติที่ช่วยซ่อมแซม DNA ที่เสียหาย ช่วยดำรงเสถียรภาพของสารพันธุกรรม และป้องกันการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ เพื่อไม่ให้กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง

ยีน BRCA พบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้หญิงที่มียีน BRCA1 หรือ BRCA2 ที่ผิดปกติจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ โดยมักจะเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย (ก่อนวัยหมดประจำเดือน) และมักจะมีญาติสายเลือดเดียวกันที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่หลายคน นอกจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่แล้ว

คนที่มียีน BRCA1 ที่ผิดปกติยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ส่วนคนที่มียีน BRCA2 ที่ผิดปกติก็ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งของถุงน้ำดี มะเร็งของท่อน้ำดี และมะเร็งของเซลส์เม็ดสี (melanoma) สำหรับผู้ชายที่มียีน BRCA1 ที่ผิดปกติ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งของอัณฑะ และมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนผู้ชายที่มียีน BRCA2 มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก

อย่างไรก็ตามสมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนสามารถเป็นมะเร็งได้ 2 ชนิดในร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวดังกล่าวจะต้องมียีน BRCA ที่ผิดปกติ และหากเกิดมะเร็งขึ้นในครอบครัวก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากยีน BRCA ที่ผิดปกติเท่านั้น มะเร็งเต้านมเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงนอกจากพันธุกรรม

โดยชั่วชีวิตหนึ่งโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งเต้านมในกลุ่มประชากรปกติมีประมาณ 12% (120 คนในประชากร 1,000 คน) แต่ในกลุ่มที่มีความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือยีน BRCA2 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมถึง 60% (600 คนในประชากร 1,000 คน) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงกว่าประชากรปกติถึง 5 เท่า ส่วนโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งรังไข่ในกลุ่มประชากรปกติมีประมาณ 1.4% (14 คนในประชากร 1,000 คน) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีความผิดปกติของยีนจะมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่เพิ่มเป็น 15-40% (150-400 คนในประชากร 1,000 คน)

รู้จัก 5 ระยะมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 0 ถึง ระยะที่ 4 โดยการวิจัยจากหลายสถาบันพบว่าการตรวจพบรอยโรคตั้งแต่ระยะที่ 0 ทำให้การรักษามะเร็งเต้านมทำได้ง่ายกว่าการรักษาในระยะที่ลุกลามแล้ว โดยมะเร็งเต้านมระยะที่ 0 หรือ DCIS ( Ductal Carcinoma In Situ) เป็นเซลล์มะเร็งที่เพิ่งก่อตัวขึ้นจำกัดอยู่ภายในเนื้อเยื่อฐานรากยังไม่แบ่งตัวลุกลามสู่ภายนอกขอบเขต โอกาสอยู่รอดใน 5 ปี ที่ประมาณ 99% ส่วนมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 มีการลุกลามออกมานอกเนื้อเยื่อฐานราก แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และขนาดก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. มีโอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 98%
ขณะที่มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากกว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน 5 ซม. ยังไม่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 ซม. แต่มีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว ก็จะจัดอยู่ในระยะที่ 2 เช่นกัน ทั้งนี้ถ้ามะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองโอกาสอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 98%

สำหรับมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. หรือมะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้จำนวนหลายต่อมแล้ว โอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 84 % และมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้ายที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง เป็นต้น โอกาสอยู่รอด 5 ปี ประมาณ 24 %

อาการบ่งชี้มะเร็งเต้านม

อาการเริ่มแรกของมะเร็งเต้านมมักคลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ หรือเต้านมมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป ขนาดใหญ่ เล็กไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัดข้างใดข้างหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม
ส่วนอาการแสดงที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างหนึ่ง อาจเป็นเล็กน้อยหรือเป็นมากก็ได้ มีอาการบวมแดง หัวนมยุบตัวเข้าไปในเต้านม หรือไม่สม่ำเสมอ โดยไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือไม่ได้เกิดจากการผ่าตัด มีของเหลว เช่น น้ำเหลืองใสๆ ที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม

มะเร็งเต้านม

หลายวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

การคัดกรองมะเร็งเต้านมสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเริ่มต้นคัดกรองเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือการพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยจะช่วยให้ผลการวินิจฉัยออกมาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเริ่มต้นตรวจคัดกรองตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นด้วยตัวเองจะทำให้สามารถสังเกตเต้านมได้ง่ายขึ้นเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ

ดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital mammogram)

การถ่ายภาพรังสี โดยปริมาณรังสีที่ใช้นั้นใกล้เคียงการเอกซเรย์ปอดทั่วไป มีความปลอดภัย สามารถให้รายละเอียดภาพรวมของเต้านมทั้งหมด สามารถวินิจฉัยรอยโรคที่เป็นหินปูนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้หรือซ้อนทับกัน สามารถตรวจพบรอยโรคของมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ในขณะที่ในผู้หญิงอายุน้อยที่มีความหนาแน่นของเต้านมสูง (extremely dense breast) การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถให้รายละเอียดได้ดีนัก ในทางปฏิบัติจึงต้องใช้อัลตราซาวนด์เต้านมร่วมด้วย

อัลตราซาวนด์เต้านม (Ultrasound)

การใช้คลื่นความถี่เหนือเสียงในการตรวจซึ่งปราศจากรังสีสามารถใช้ในเด็กและสตรีมีครรภ์ได้ สามารถแยกลักษณะของก้อน หรือถุงน้ำ หรือความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับผลึกหินปูนในเต้านม อาจไม่สามารถให้รายละเอียดเทียบเท่าดิจิตอลแมมโมแกรม

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในลักษณะนี้แม้จะมีความไวของการตรวจที่สูง แต่ไม่ได้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่เหนือกว่าดิจิตอลแมมโมแกรม และอัลตราซาวนด์แต่อย่างใด จึงแนะนำให้ใช้ในรายที่มีปัญหาในการตรวจวินิจฉัย หรือใช้ตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งเต้านมเป็นหลัก

ตรวจวินิจฉัยและตรวจชิ้นเนื้อ (Diagnosis and Biopsy)

การตรวจทางพยาธิวิทยา ในรายที่ตรวจพบรอยโรคในเต้านมที่มีความสงสัย การตรวจชิ้นเนื้อคือการตรวจที่แม่นยำว่ารอยโรคที่เห็นนั้นคืออะไร ใช่มะเร็งหรือไม่ กรณีตรวจพบความผิดปกติของเต้านมจากอัลตราซาวด์ Ultrasound guided core needle biopsy โดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม เป็นการนำรอยโรคขนาดเล็กออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา โดยอาศัยเครื่องอัลตราซาวด์ในการหาตำแหน่งที่ผิดปกตินั้น มีระบบอ่านผลชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์ใน 24 ชั่วโมง
ส่วนกรณีตรวจพบความผิดปกติจากดิจิตอลแมมโมแกรม Stereotactic guided biopsy โดยรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม เป็นการนำรอยโรคขนาดเล็กออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา โดยมากมักเป็นหินปูนที่ผิดปกติ โดยอาศัยเครื่องเอกซเรย์ในการหาตำแหน่งที่ผิดปกตินั้น มีระบบอ่านผลชิ้นเนื้อโดยพยาธิแพทย์ใน 24 ชั่วโมง

การรักษามะเร็งเต้านม

การผ่าตัด (Surgery)

การผ่าตัดรักษาและเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบออนโคพลาสติก (Oncoplastic Surgery)เป็นเทคนิคการผสมผสานการผ่าตัดมะเร็งเต้านมกับการทำศัลยกรรมตกแต่งเข้าด้วยกัน เพื่อคงประสิทธิภาพการรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดได้สูงสุด โดยที่ยังคงความสวยงามของเต้านมได้ใกล้เคียงเดิม คือ ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast conserving surgery) ในกรณีขนาดก้อนเล็กไม่มีการกระจายของก้อนหรือหินปูนที่ผิดปกติทั่วเต้านม และในกรณีก้อนมะเร็ง 2-3 ก้อน หรือก้อนขนาดใหญ่ที่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้

ทั้งนี้ทำโดยย้ายเนื้อไขมันจากบริเวณข้างๆ เข้ามาปิดแทนช่องว่างที่ตัดก้อนมะเร็งออกไป หรือการผ่าตัดยกกระชับหรือ ลดขนาดเต้านมทั้งสองข้างให้สมดุลกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ในบางกรณีมะเร็งบางชนิดอาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัด จะทำร่วมกับรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเต้านม ทำการวางคลิป (clip) ที่ตัวก้อนมะเร็งเพื่อติดตามรอยโรคระหว่างให้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัดด้วยส่วนผ่าตัดเต้านมทั้งหมด (Mastectomy with reconstruction) ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ และการเสริมสร้างเต้านมด้วยถุงเต้านมเทียม (Implant-based reconstruction) หรือเนื้อเยื่อของตนเอง (autologous reconstruction) ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลที่รักแร้ เป็นการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองต่อมแรก แล้วนำไปตรวจว่ามีมะเร็งกระจายมายังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการเลาะต่อมน้ำเหลืองเท่าที่จำเป็น ซึ่งสามารถลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หลังการผ่าตัด เช่น แขนบวม หรืออาการชาของแขนได้ โดยมีการฉีดสาร Isosulfan blue ร่วมกับ Indocyanine green ช่วยเพิ่มความแม่นยำในมะเร็งระยะแรก และ ในกรณีมะเร็งเต้านมขนาดใหญ่ ที่วางแผนผ่าตัดหลังให้ยาเคมีบำบัดครบ จำเป็นต้องใช้สาร Isosulfan blue และ Indocyanine green ร่วมกัน สามารถตรวจจับต่อมน้ำเหลืองที่ติดสี Indocyanine green ด้วยกล้องฟลูออเรสเซนซ์

การรักษาเสริมด้วยการให้ยา (Systemic treatment)

การรักษาเสริมด้วยการให้ยามีหลายส่วน ได้แก่ เคมีบำบัด (chemotherapy) ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal therapy) ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา (Medical oncologist)

การรักษาด้วยการฉายรังสี (Radiotherapy)

ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รังสีรักษามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา ซึ่งผู้ป่วยในปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมเพิ่มขึ้น การฉายรังสีจึงมีส่วนช่วยการลดโอกาสกลับเป็นซ้ำบริเวณเต้านมและต่อมน้ำเหลือง แต่กรณีอื่นๆ อย่างเช่นการผ่าตัด การกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ก็เป็นอีกหนึ่งของข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องมีการฉายรังสีรักษาเป็นส่วนประกอบของการรักษาเพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ

การฉายรังสีจะมีผลข้างเคียงเฉพาะบริเวณที่ฉายเท่านั้น โดยผลข้างเคียงหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือผลข้างเคียงเฉียบพลัน คือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในช่วงฉายรังสีซึ่งจะเกิดขึ้นไม่เกิน 3 เดือน และผลข้างเคียงในส่วนนี้ก็สามารถหายได้เมื่อฉายรังสีครบแล้ว ตัวอย่างเช่นผลข้างเคียงบริเวณผิวหนังมีการฉายรังสีไปแล้ว 2 สัปดาห์ ผิวหนังอาจจะมีสีแดงขึ้นหรือสีคล้ำขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าปกติ หลังจากนั้นเมื่อฉายรังสีครบตามกำหนดแล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวเนื่องจากการฉายรังสีที่เต้านมมีอวัยวะที่ใกล้เคียงได้แก่ ปอดและหัวใจ ซึ่งติดกับบริเวณเต้านม โดยบริเวณปอดและหัวใจอาจจะได้รับรังสีบางส่วน แต่ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีในปัจจุบันสามารถลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงได้

มะเร็งเต้านม

เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมมีหลากหลาย ทั้งปัจจัยที่สามารถควบคุมแก้ไขได้และไม่ได้ ดังนั้นการรู้วิธีควบคุมปัจจัยที่แก้ไขได้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

น้ำหนัก หากมีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักมาก สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงวัยนี้จะมีไขมันในร่างกายที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างเอสโตรเจนแทนรังไข่หลังหมดประจำเดือน และหากมีภาวะอ้วน มีน้ำหนักและไขมันที่มากจะทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายสูง ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเพิ่มมากขึ้น

อาหาร นักโภชนาการแนะนำว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย และรักษาน้ำหนักร่างกายให้มีสุขภาพดีเสมอนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ทัง้นี้แนะนำให้รับประทานผักผลไม้มากกว่า 5 ถ้วยต่อวัน จำกัดปริมาณอาหารให้มีไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่า 10% ของปริมาณแคลอรี่ทั้งหมดต่อวัน และรับประทานอาหารที่มีไขมันทั้งหมดไม่เกิน 30 กรัมต่อวัน และยังแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีไขมัน Omega 3 นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Trans Fat) เนื้อสัตว์แปรรูป หรืออาหารรมควัน

การออกกำลังกาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ หากออกกำลังกายวันละ 45-60 นาที ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไปต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งเต้านมได้

การดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ความสามารถของการทำงานของตับลดลง สูญเสียการควบคุมปริมาณเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งเพิ่มขึ้นได้

การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์เต้านมให้มีการเจริญเติบโต ซึ่งหากการที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน

ยาคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดที่เป็นระยะเวลานาน มากกว่า 5-10 ปีนั้น เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดในช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในเกิดมะเร็งเต้านมเพียงเล็กน้อย และพบว่าหากหยุดยาคุมกำเนิดมากกว่า 10 ปี ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่แตกต่างจากคนทั่วไป

ความเครียดและความวิตกกังวล ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนที่บ่งบอกว่า ความเครียดและความวิตกกังวลนั้นมีความเกี่ยวข้องชัดเจนกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่าการลดความเครียดและทำให้จิตใจสงบนั้น สามารถเพิ่มความสามารถของภูมิต้านทานในร่างกายได้

ข้อดีตรวจคัดกรองเต้านมปีละครั้ง

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ไม่ได้ลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ข้อดีคือหากมีรอยโรคสามารถตรวจพบได้ในระยะเริ่มต้น หรือระยะที่ 0 ซึ่งการตรวจพบในระยะนี้มีโอกาสรักษาได้มากกว่าตรวจพบในระยะลุกลาม โดยศูนย์โรคเต้านม โรงพยาบาลไทยนครินทร์แนะนำให้ช่วงวัยรุ่นควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรมาตรวจเร็วกว่ากลุ่มทั่วไป

ทั้งนี้แบ่งเป็นกลุ่มทั่วไปและกลุ่มที่มีความเสี่ยง กลุ่มทั่วไปเริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 25 ปีโดยการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเดือนละครั้ง และตรวจโดยแพทย์โรคเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เริ่มที่อายุ 35 ปี และสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัว ญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติได้รับการฉายแสงบริเวณหน้าอกมาก่อน จะมีการตรวจคัดกรองในช่วงอายุที่เร็วขึ้นควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองที่อายุ 20 ปี และตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเต้านมทุก 3 ปี ส่วนการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ ต้องตรวจเร็วขึ้น ที่อายุ 30 ปี เพราะมะเร็งเต้านมตรวจพบก่อนสามารถวางแผนการรักษาได้คุณภาพที่ดีกว่าและลดอัตราการสูญสียเต้านม

Share