Shopping Cart

No products in the cart.

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) เกิดจากเชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อโรคมาจากทวารหนักเป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยง เช่น ความไม่สะอาดกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ โรคเบาหวาน และยังมีโรคร่วมในระบบทางเดินปัสสาวะหลายโรคทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ 

  • เพศหญิง มีท่อปัสสาวะสั้นมากเมื่อเทียบกับชาย เชื้อโรคที่อยู่บริเวณปากช่องคลอดจึงมีโอกาสเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่ายกว่า จึงมักพบโรคนี้ในหญิงทุกวัยมากกว่าในชายโดยเฉพาะในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ในวัยหมดประจำเดือน และในหญิงสูงอายุเยื่อบุทางเดินปัสสาวะจะบางลงและความต้านทานโรคต่ำลง เกิดโรคนี้ได้ง่ายมากขึ้น
  • ในชายอายุ 50-60 ปีขึ้นไปที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต เป็นปัจจัยทำให้ชายสูงอายุเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อาการเตือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

อาการที่สำคัญ คือ ปัสสาวะบ่อย แสบขัด อาจบ่อยมากทุกๆ 1-2 ชั่วโมงหรือกระปริบประปรอย หรืออาจแสบขัดมาก จนไม่อยากถ่ายปัสสาวะแล้วแต่ความรุนแรงของโรค อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  • ปัสสาวะไม่ค่อยสุดหรือมีปัสสาวะหยดหรือไหลซึมออกมาอีก
  • ปวดท้องน้อยตอนปัสสาวะสุด อาจปวดมากแบบบิดเกร็งหรืออาจปวดแบบถ่วงๆ แบบเป็นๆ หายๆ หรืออาจรู้สึกปวดตลอดเวลา
  • พอรู้สึกปวดต้องรีบถ่าย บางครั้งกลั้นไม่ได้จนมีปัสสาวะเล็ดออกมา
  • ปัสสาวะปวดเบ่งหรือไม่ค่อยออก
  • ปัสสาวะมีเลือดหยดออกมาตอนสุดหรือมีเลือดปนในน้ำปัสสาวะ
  • ปัสสาวะขุ่น
  • ต้องตื่นลุกขึ้นมาปัสสาวะเกิน 2 ครั้งขึ้นไปในหนึ่งคืน

ในกรณีที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบเล็กน้อยหรือแบบเรื้อรัง อาการดังกล่าว อาจมีเพียงเล็กน้อยจนผู้ป่วยไม่ทันสังเกต แต่หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

การตรวจและวินิจฉัย

คนที่มีอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าตรวจพบเม็ดเลือดขาวในน้ำปัสสาวะ ก็วินิจฉัยได้เลยว่ามีกระเพาะปัสสาวะอักเสบ การตรวจร่างกายอาจพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อย มีไข้ อาจตรวจพบการอักเสบบวมแดงหรือพบแต้มเลือดหรือพบเมือกขุ่นขาวที่ปลายท่อปัสสาวะ อาจจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคร่วมกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบด้วย

อาการ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยหรือเกิดร่วมกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ)
  • โรคประสาทกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานอย่างปกติ
  • โรคกระเพาะปัสสาวะผิดปกติแต่กำเนิดแบบเรื้อรัง
  • โรคมดลูกและกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกรานหย่อนยาน
  • โรคกระเพาะปัสสาวะหรือหูรูดกระเพาะปัสสาวะเสื่อม
  • โรคเยื่อบุช่องคลอดแห้งในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • โรคมะเร็งในทางเดินปัสสาวะ

ในผู้สูงอายุชายต้องคำนึงถึงโรคสำคัญของต่อมลูกหมาก 3 โรค คือ ต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบและมะเร็งต่อมลูกหมาก

วีธีการรักษา

  • รับประทานยาฆ่าเชื้อโรคที่เหมาะสม
  • รับประทานยา รักษาอาการ เช่น อาการปวด อาการเจ็บแสบ อาการปัสสาวะลำบาก
  • ดื่มน้ำ วันละ 2-5 ลิตรต่อวัน (24 ชั่วโมง)
  • รักษาอนามัยของร่างกายและอนามัยในกิจกรรมทางเพศ
  • ต้องติดตามตรวจปัสสาวะหลังให้ยารักษา (5-10 วัน)

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในผู้ชาย

ดูแลและป้องกันตัวเองอย่างไร

  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะหลังปัสสาวะและอุจจาระ
  • รักษาอนามัยในกิจกรรมทางเพศและในระยะที่มีประจำเดือน
  • ปัสสาวะ หลังมีเพศสัมพันธุ์
  • ไม่กลั้นปัสสาวะนานจนเกินไป
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  • เมื่อมีโรคใดๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะโรคที่มีการอักเสบติดเชื้อ ต้องรีบรักษาเพื่อไม่ให้ลุกลาม
  • เมื่อมีโรคที่มีความเสี่ยงกระเพาะปัสสาวะ เช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะหรืออื่นๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

Share