ท้องเสีย (diarrhea) หมายถึง การถ่ายอุจจาระมากกว่า3ครั้ง/วัน หรือมีลักษณะอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีมูก เลือด หรือหยดน้ำมันปน หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
การขับถ่ายเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของร่างกาย เพื่อนำกากอาหารที่เหลือจากการย่อยและดูดซึม ตลอดจนของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ออกจากร่างกาย ความหมายของการขับถ่ายปกติในแต่ละคนจึงอาจแตกต่างกันไป ในทางการแพทย์ การขับถ่ายปกติ จะหมายถึง การถ่ายท้องตั้งแต่ 3 วัน/ครั้ง ไปจนถึง 3 ครั้ง/วัน อย่างไรก็ตาม การขับถ่ายปกติสำหรับคนหนึ่งอาจเป็นการขับถ่ายที่ผิดปกติสำหรับอีกคนหนึ่งได้ เช่น ในคนที่มีแนวโน้มท้องผูก ถ่ายท้องสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งมาตลอด เมื่อถ่ายบ่อยขึ้น เป็นวันละ3 ครั้ง อาจเป็นการนำของลำไส้ที่ผิดปกติก็เป็นได้
ส่วนใหญ่จะแบ่ง อาการท้องเสีย เป็น 2 แบบ คือ
1. ท้องเสียเฉียบพลัน (Acute diarrhea) หมายถึง อาการท้องเสีย ที่เป็นมาน้อยกว่า 2 สัปดาห์ มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ได้แก่
1.1 การทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน
- เชื้อไวรัส จะทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมน้ำและเกลือแร่ของลำไส้เล็กลดลง อุจจาระที่ออกมาจึงมีลักษณะเหลวคล้ายน้ำซาวข้าวปริมาณมาก ไม่มีมูกหรือเลือดปน ส่วนใหญ่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง แนวทางการรักษาจึงเป็นการประคับประคอง ให้น้ำเกลือและสารอาหารชดเชยในปริมาณที่เพียงพอในช่วงที่ถ่ายมาก ร่วมกับให้ยารักษาตามอาการก็เพียงพอ
- เชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้ท้องเสียได้จากหลายกลไก เช่น เชื้อบางชนิดอาจทำลายเยื่อบุผิวลำไส้โดยตรง ทำให้ผนังลำไส้บวมและหลุดลอกออกมาเป็นมูกสีขาวๆ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเบ่งคล้ายอยากถ่ายเป็นพักๆ แบคทีเรียบางชนิดยังสามารถปล่อยสารพิษที่กระตุ้นลำไส้เล็กให้ขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยถ่ายเหลวปริมาณมากคล้ายการติดเชื้อไวรัสได้
1.2 การทานอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือสารพิษปนเปื้อน
ที่เรียกกันว่า ‘อาหารเป็นพิษ’ ส่วนใหญ่จะมีผลให้การดูดซึมเกลือแร่และน้ำในลำไส้เล็กลดลง ผู้ป่วยจึงมักถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปริมาณมาก จนอ่อนเพลียหรือเกิดจากอาการจากการขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม ด้วยการขับถ่ายเป็นกลไกการนำของเสียออกจากร่างกายที่สำคัญ เมื่อสารพิษที่ปนเปื้อนค่อยๆถูกขับออก อาการท้องเสีย จึงมักจะดีขึ้นเองใน 24 ชั่วโมง
2. ท้องเสียเรื้อรัง (Chronic diarrhea) หมายถึง อาการท้องเสียที่นานกว่า 2 สัปดาห์
- การติดเชื้อในลำไส้จากเชื้อกลุ่มที่เจริญเติบโตช้า เช่น วัณโรค ส่วนใหญ่จะทำให้ร่างกายค่อยๆอ่อนแอลง อาจมีไข้ต่ำๆ หรือน้ำหนักตัวค่อยๆลดลงร่วมด้วย
- โรคที่ทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งตับอ่อน โดยตับอ่อนจะมีหน้าที่สร้างน้ำย่อยเพื่อย่อยแป้งและไขมัน เมื่อเกิดการอักเสบ ความสามารถในการย่อยอาหารกลุ่มดังกล่าวจึงลดลง เหลืออาหารค้างในกระเพาะและลำไส้นานขึ้นทำให้ท้องอืด แน่นท้อง นอกจากนี้ เมื่อการย่อยและดูดซึมไขมันทำได้ไม่ดีลักษณะอุจจาระที่ออกมาจึงเหลวลง และเห็นไขมันลอยอยู่ด้านบน
- เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิด สามารถสร้างฮอร์โมนไปกระตุ้นให้ลำไส้เพิ่มการหลั่งน้ำออกมามากขึ้น จึงทำให้อุจจาระมีลักษณะเหลวลงได้
- ภาวะที่ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้ลดลง เช่น ผู้สูงอายุมากๆ ผู้ป่วยที่มีน้ำย่อยแลคเตสแต่กำเนิด หรือผู้ป่วยลำไส้แปรปรวน
อาการท้องเสีย ที่ควรระวังและควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
- เวียนศีรษะ
- บ้านหมุน
- เหงื่อแตก
- ใจสั่น
- หน้ามืด
- เป็นลม
การขับถ่ายที่มากเกินไป จนสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ หากชดเชยไม่ทัน
อาจทำให้ความดันต่ำปริมาณ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้หน้ามืด วูบ หรือช็อค หมดสติได้
ถ่ายอุจจาระเหลวสีดำ
อุจจาระสีดำเหนียวคล้ายยางมะตอยแสดงถึงภาวะที่มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งเลือดที่ออกจะถูกน้ำกรดย่อยสลาย และเปลี่ยนสีจากแดงเป็นน้ำตาลเข้มและดำ
ถ่ายอุจจาระมีเลือดสีแดงปน
- เลือดออกในลำไส้ อันเป็นผลมาจากการติดเชื้อซึ่งทำลายเยื่อบุผิวลำไส้ ทำให้ผิวลำไส้หลุดลอกออกมาเป็นแผ่นเมือกสีขาวคล้ายมูกปะปนกับเลือดได้
- เป็นอาการนำของเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ด้วยเนื้องอกหรือมะเร็งจะประกอบด้วยเซลล์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วกว่าเนื้อปกติ จึงสามารถเพิ่มจำนวนและขยายขนาดได้มากกว่าเนื้อบริเวณอื่น การเจริญเติบโตดังกล่าวจะต้องใช้สารอาหารปริมาณมากกว่าปกติเส้นทางลำเลียงสารอาหารที่สำคัญจะได้จากเส้นเลือดจำนวนมากที่มาหล่อเลี้ยงนั่นเอง เมื่อเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น บางส่วนอาจดันให้ผนังเส้นเลือดเหล่านี้แตก จึงทำให้เห็นเลือดปนออกมากับอุจจาระได้
- เลือดออกจากทวารหนัก ซึ่งอาจเกิดจากริดสีดวงทวาร หรือเป็นผลจากของเสียที่มีฤทธิ์เป็นกรดปริมาณมาก ระคายเคืองบริเวณหูรูดทวารหนัก ทำให้ผู้ป่วยท้องเสียรุนแรง บางรายจึงอาจรู้สึกแสบร้อน หรือบวมแดงบริเวณผิวรอบทวารหนักในช่วงที่ถ่ายมากได้
ปวดท้องรุนแรงจนท้องแข็งคล้ายแผ่นกระดาน
แสดงถึงการอักเสบในลำไส้ที่รุนแรงจนลำไส้บางส่วนเกิดการทะลุ ของเสีย เชื้อโรค ตลอดจนน้ำย่อยในลำไส้จึงกระจายออกมาระคายเคืองทั่วเยื่อบุช่องท้อง
ไข้สูง หนาวสั่นจนฟันกระทบกัน
แสดงว่าอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ร่วมกับเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย
แนวทางการรักษา อาการท้องเสีย
1. การรักษาสาเหตุของโรค เช่น ทานยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมในกรณีท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
2. การรักษาแบบประคับประคอง เช่น
- ทานน้ำเกลือแร่ชดเชยในกรณีที่ถ่ายเหลวปริมาณมาก หากผู้ป่วยอาเจียนมากหรือไม่สามารถทานได้ อาจพิจารณาให้สารน้ำและเกลือแร่ชดเชยวิธีอื่น เช่น ให้น้ำเกลือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
- การดื่มน้ำอัดลมผสมเกลือก็ได้ประโยชน์เช่นเดียวกับการดื่มน้ำเกลือแร่ทั่วไปเพราะร่างกายจะได้รับทั้งน้ำ น้ำตาล และเกลือแร่ แต่ในปริมาณและอัตราส่วนที่ไม่คงที่ เพราะสูตรการผสมเกลือแร่แต่ละแห่งก็ยังแตกต่างกัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจชอบมากกว่าเพราะมีรสชาติที่ดีกว่าน้ำเกลือแร่แบบซอง
- การทานยาหยุดถ่ายจะได้ประโยชน์ในกรณีถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมาก จนร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสหรือสารพิษที่ปนเปื้อนมาในอาหาร ยากลุ่มนี้จะช่วยปรับให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงขับถ่ายของเสียออกได้ช้าลง อย่างไรก็ตาม เมื่อลำไส้บีบตัวลดลงก็อาจทำให้ผู้ป่วยท้องอืดเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย การให้ยาหยุดถ่ายก็อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้ออกให้หมดเชื้อบางส่วนจึงทำลายผิวลำไส้ได้นานและรุนแรงมากขึ้นได้
การเลือกทานอาหารที่เหมาะสม
- ผู้ป่วยท้องเสียสมควรทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม ในปริมาณ 60-70 % ของอาหารที่เคยทานปกติ ในกรณีที่หลังทานอาหาร 2-3 ชั่วโมงแล้วยังรู้สึกหิว อาจค่อยๆทานอาหารเพิ่มขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการทานผักและผลไม้ อาหารร้อนหรือเย็นจัด อาหารที่มันเกินไป เช่น ข้าวขาหมู ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด ในช่วง 3-4 วันแรก
- งดดื่มนมหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 5-7 วัน