แผนกโภชนบำบัดมีคำแนะนำวิธีการเลือกกินอาหารเจอย่างไรให้ดีกับผู้ที่เป็นโรคไต เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะทำให้สามารถเลือกกินอาหารเจในปีนี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากอาหารเจส่วนใหญ่มักจะมีการเติมเครื่องปรุงรสเพื่อให้มีความอร่อยมากขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้อาหารที่ผ่านการแปรรูปมาประกอบอาหารเพื่อเพิ่มความสะดวกและหลากหลาย ดังนั้นอาหารเจจึงมีโซเดียมในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับผู้ป่วยโรคไตที่กินเจ
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง
หนึ่งในสารอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตทุกระยะควรจะจำกัด คือ โซเดียม เนื่องจากจะทำให้ไตของผู้ป่วยโรคไตทำงานหนักขึ้นได้ อาจส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง โดยส่วนใหญ่แล้วเราสามารถพบโซเดียมได้ในเครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง รวมถึงในเบเกอรี่ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะคิดว่าไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
ในหนึ่งวันไม่ควรได้รับโซเดียมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา โดยสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
• หากผู้ป่วยทำอาหารเจกินเอง ควรใส่เครื่องปรุงรสให้น้อย
• อาหารประเภทน้ำซุปหรือน้ำแกง ให้หลีกเลี่ยงการเอาน้ำแกงมาราดข้าว หรือเลี่ยงการกินน้ำแกงเนื่องจากโซเดียมมักจะละลายอยู่ในน้ำซุปหรือน้ำแกง
• เลี่ยงการกินอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารหมักดอง, อาหารแปรรูป เป็นต้น ในช่วงเทศกาลกินเจผักกาดดองกระป๋องมักถูกนำมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ต้มผักกาดดอง ผัดผักกาดดอง เป็นต้น นอกจากนี้อาหารเจยังมักนำอาหารแปรรูปมาใช้ประกอบอาหารเพื่อช่วยเพิ่มอร่อยและหลากหลาย เช่น โปรตีนเกษตรแบบต่าง ๆ ที่อาจจะมีการปรุงรสมาแล้ว ซึ่งอาจจะมีโซเดียมสูง จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต
ระวังอาหารที่มีโพแทสเซียม
อีกหนึ่งสารอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรจะระวัง คือ อาหารที่มีโพแทสเซียม ซึ่งสามารถปฏิบัติได้โดย
• เลือกกินผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง เช่น แอปเปิ้ล, องุ่น, ชมพู่ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการกินผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย, น้อยหน่า, ขนุน, ลำไย, ทุเรียน เป็นต้น
• เลือกกินผักที่มีโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง เช่น กะหล่ำปลี, ผักกาดหอม, ฟัก, บวบ, มะเขือยาว เป็นต้น และหลีกเลี่ยงผักที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กวางตุ้ง, คะน้า, เผือก, บล็อคโคลี่ เป็นต้น
• หากอยากลดปริมาณโพแทสเซียมสามารถนำผักไปต้มก่อน จากนั้นนำแต่ผักที่ต้มแล้วไปปรุงอาหาร
เลี่ยงการกินอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง
ฟอสฟอรัสในอาหารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ฟอสฟอรัสที่พบได้ในอาหารธรรมชาติ และฟอสฟอรัสที่สังเคราะห์ขึ้นมา โดยฟอสฟอรัสที่สังเคราะห์ขึ้นมามักพบในอาหารแปรรูป, อาหารแช่แข็ง, อาหารที่มีผงฟูและยีสต์เป็นส่วนประกอบ, ชา, กาแฟสำเร็จรูป, น้ำอัดลม เป็นต้น ฟอสฟอรัสชนิดนี้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดีกว่าฟอสฟอรัสที่อยู่ในอาหารธรรมชาติ เช่น ถั่ว, งา, ธัญพืช, ข้าวกล้อง, เต้าหู้ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน ผู้กินเจสามารถเลือกกินอาหารที่มีฟอสฟอรัสที่อยู่ในอาหารธรรมชาติได้ โดยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักกำหนดอาหาร
กินโปรตีนให้เพียงพอ
โปรตีนเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ร่างกายใช้โปรตีนในหลากหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของร่างกายหรือระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น โดยปกติแหล่งของโปรตีนที่หลายคนรู้จักกันดีมักจะมาจากเนื้อสัตว์ แต่ที่จริงแล้วในพืชก็เป็นแหล่งโปรตีนด้วยเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าผู้ป่วยโรคไตจะต้องจำกัดการกินโปรตีนในแต่ละวัน แต่จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าโปรตีนเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงควรกินโปรตีนให้เพียงพอ ซึ่งผู้ป่วยโรคไตในแต่ละระยะจะมีความต้องการโปรตีนที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยสามารถปรึกษานักกำหนดอาหาร เพื่อให้ทราบปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
โดยสามารถได้รับโปรตีนจากพืชได้ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืช เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น สิ่งสำคัญของการกินโปรตีนจากพืช คือ ควรจะกินให้หมุนเวียนและหลากหลายเนื่องจากในพืชนั้นมีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบถ้วนเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ (ยกเว้น ถั่วเหลืองและควินัว) โดยพืชแต่ละชนิดจะมีกรดอะมิโนจำเป็นแตกต่างกันออกไป ดังนั้น การกินโปรตีนจากพืชให้หลากหลายจะทำให้ผู้กินเจได้รับกรดอะมิโนจำเป็นที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
สำหรับปริมาณถั่วต่าง ๆ และพืชผัก ที่ให้โปรตีน 7 กรัม (เทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ) ได้แก่
นมถั่วเหลือง 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร)
เต้าหู้แข็ง ½ แผ่น (60 กรัม)
ถั่วเหลือง ¼ ถ้วยตวง
ถั่วแดง ½ ถ้วยตวง
ถั่วดำ ½ ถ้วยตวง
อัลมอนด์ ¼ ถ้วยตวง
เนยถั่ว 2 ช้อนโต๊ะ
ถั่วลันเตา 1 ถ้วยตวง
ควินัว 1 ถ้วยตวง
ในกรณีเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ฟอกไตแล้ว
เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ฟอกไตแล้ว จะต้องการโปรตีนมากกว่าผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ฟอกไต ดังนั้นจึงควรกินโปรตีนจากพืชให้มากขึ้นกว่าปกติ จากคำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้น โดยปริมาณโปรตีนที่แนะนำจะเท่ากับ 1.2 กรัม / น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / วัน สามารถปรึกษานักกำหนดอาหารเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล สำหรับโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัสควบคุมได้ด้วยวิธีทีเดียวกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังก่อนฟอกไตดังที่แนะนำไปข้างต้น
ในกรณีเป็นผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตมาแล้ว
หากเป็นผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตมาแล้ว ในระยะยาวเมื่ออาการคงที่ โดยปกติสามารถกินอาหารได้เหมือนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั่วไป คือ ต้องระวังเรื่องปริมาณโปรตีนที่กินต่อวันเท่ากับ 0.8 – 1 กรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)/วัน ปริมาณโซเดียม โพแทสเซียมและฟอรัสฟอรัส ซึ่งสามารถดูแลเรื่องอาหารโดยใช้วิธีดังที่กล่าวมาในข้างต้น สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือต้องติดตามผลการรักษาเพื่อดูการทำงานของไตเป็นระยะและปรับการกินอาหารให้เหมาะกับการทำงานของไตในระยะนั้น ๆ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายไตมาแล้วควรเลือกกินอาหารที่สุกสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอาหาร จะเห็นได้ว่าการกินอาหารเจในผู้ป่วยโรคไตมีข้อควรระวังค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตที่สนใจกินอาหารเจควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหาร เพื่อให้ได้รับคำแนะนำและวิธีการเลือกกินอาหารเจที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ข้อมูลจาก
แผนกโภชนบำบัด โรงพยาบาลไทยนครินทร์