Shopping Cart

No products in the cart.

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)

กรดไหลย้อน เกิดจากอะไร

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) เป็นความผิดปกติที่กรดจากกระเพาะอาหารหรือน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการแสบยอดอก หรือมีเรอเปรี้ยวร่วมด้วย ในบางรายอาจมีความรู้สึกเหมือนมีกรดหรือน้ำย่อยรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือที่ปาก ถ้าเป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลในหลอดอาหาร หลอดอาหารส่วนปลายตีบ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้

 

 

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

  • การที่กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายคลายตัว โดยไม่สัมพันธ์กับการกลืน ทำให้กรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารสามารถไหลย้อนกลับขึ้นไปสู่บริเวณหลอดอาหารได้
  • กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายมีความดันลดลงกว่าคนปกติ หรือเกิดมีการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหารทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น
  • เกิดจากความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหารเอง
  • อาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย

โรคกรดไหลย้อย (Gastroesophageal Reflux Disease)

อาการของโรคกรดไหลย้อน

ในปัจจุบันแบ่งอาการกรดไหลย้อนได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. อาการที่เกิดขึ้นกับกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร
    แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ลามมาที่บริเวณหน้าอกหรือคอ มักเป็นมากขึ้นหลังทานอาหารมื้อหนัก อาการสำคัญอีกแบบหนึ่งคือเรอเปรี้ยว ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือขมไหลย้อนจากคอขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยอาจมีอาการใดอาการหนึ่งหรือทั้ง 2 อาการ อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือกลืนลำบาก
  2. อาการนอกหลอดอาหาร แบ่งได้เป็นอาการตามระบบต่างๆ ดังนี้
    • อาการคล้ายโรคหัวใจ ผู้ป่วยจะเจ็บหรือแน่นหน้าอกรุนแรงแบบเดียวกับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด กรณีนี้ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างละเอียดก่อน หากไม่พบความผิดปกติจึงค่อยตรวจหากรดไหลย้อน
    • อาการทางปอด อาจมีหอบหืด ไอเรื้อรัง ปอดอักเสบเรื้อรัง นอนกรน หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ
    • อาการทางหู คอ จมูก เช่น จุกแน่นในคอคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณลำคอ เจ็บคอเรื้อรัง เสมหะ ฟันผุ มีกลิ่นปากโดยหาสาเหตุไม่ได้

โรคกรดไหลย้อย (Gastroesophageal Reflux Disease)

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง
  • ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากเกินไป
  • ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
  • ไม่รับประทานอาหารมื้อเย็นในปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทาน ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • นอนตะแคงซ้ายและนอนหนุนหัวเตียงให้สูง
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. อภิชาติ สุรเมธากุล
นพ. อภิชาติ สุรเมธากุล
แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหาร โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์