เมื่ออายุของเรามากขึ้นปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องภาวะ ไตเสื่อม ที่เรามักจะพบได้ในผู้สูงอายุหรือแม้แต่กับผู้ใหญ่วัยกลางคน ซึ่งการรักษาโรคไตจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องทำการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดให้น้อยลงกว่าเดิม และเมื่อมาถึงตรงจุดนี้ เชื่อว่าใครหลายคนก็คงมีข้อคำถามเกี่ยวกับการดูแลภาวะไตเสื่อมและรักษาโรคไตผุดขึ้นมาในใจมากมาย พร้อมทั้งอยากจะหาคำตอบโดยเร็วที่สุด
ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะมาตอบข้อสงสัยต่างๆ ให้กระจ่าง อันได้แก่ ปัจจัยที่ส่งผลให้ไตเสื่อม, เหตุใดผู้สูงอายุถึงเสี่ยงต่อภาวะไตเสื่อม, โรคไตส่งผลกระทบอะไรต่อการทำงานของร่างกาย รวมไปถึงวิธีการรักษาโรคไตและดูแลไตเสื่อมเพื่อชะลอความเสื่อมต้องทำอย่างไร โดยหากทุกคนพร้อมแล้ว เราไปดูคำตอบกันเลยดีกว่า!
ปัจจัยที่ส่งผลทำให้ ไตเสื่อม เร็วยิ่งขึ้น
ภาวะไตเสื่อมสภาพสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีความเสี่ยงติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งเมื่อเป็นแล้ว ผู้ป่วยก็ควรรีบทำการรักษาโรคไตเพื่อป้องกันไม่ให้อาการทรุดลงกว่าเดิม โดยปัจจัยที่มีผลทำให้ไตเสื่อมสภาพเร็วนั้น มีดังต่อไปนี้
- เกิดจากโรคประจำตัวและปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ทำให้เกิดเบาหวานลงไต, ความดันโลหิตสูง, โรคไตอักเสบ เป็นต้น
- ได้รับความเสี่ยงการเกิดภาวะไตจากทางพันธุกรรมหรือจากคนในครอบครัว
- การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม โดยเฉพาะอาหารที่มีค่าโซเดียมสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จ, อาหารแปรรูป ฯลฯ
พฤติกรรมการสูบบุหรี่ก็เป็นผลทำให้ไตเสื่อมได้อย่างรวดเร็ว - การรับประทานยาสมุนไพรบางชนิด ยาคลายเส้นแก้ปวดเมื่อย หรือยาลูกกลอน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะไตวายตามมาอย่างรวดเร็ว
- พฤติกรรมการพักผ่อนน้อยและไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีผลทำให้ไตเสื่อมประสิทธิภาพ
ทำไมกลุ่มผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงต่อภาวะ ไตเสื่อม ได้มากกว่ากลุ่มวัยกลางคน?
ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ จะด้อยประสิทธิภาพลงไปตามธรรมชาติ และไตเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ก็ตาม หรือถ้ามีโรคประจำตัวก็ยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไตเสื่อมสภาพมากขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้น สำหรับผู้ที่พบว่าตนเองมีความเสี่ยงจะเป็นภาวะไตเสื่อม ก็ให้ทำการเข้ารับการรักษาโรคไตแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงที่มีอัตราการฟื้นตัวค่อนข้างช้ากว่าคนที่อายุน้อย
หากไตทำงานผิดปกติจะมีสัญญาณเตือนถึงความรุนแรงต่อร่างกายอย่างไร?
เนื่องจากไตมีหน้าที่ควบคุมน้ำ เกลือแร่ และของเสียในร่างกาย ซึ่งหากไตเกิดทำงานบกพร่องจะมีผลทำให้ร่างกายไม่สามารถขับน้ำกับของเสียออกจากร่างกายได้อย่างเต็มที่ ผู้ป่วยจึงมีอาการขาบวม ปัสสาวะไม่ค่อยออกหรือออกน้อยลงหรือมีภาวะน้ำท่วมปอด เกิดการสะสมของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงการกักเก็บของเสีย ทั้งที่ตามปกติสารพิษเหล่านี้ควรขับออกทางไต โดยหากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาภาวะไตเสื่อมอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลร้ายแรงทำให้มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เซื่องซึมลง สับสน และอาจถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว
แพทย์มีบทบาทอย่างไร ในการชะลอความเสื่อมของไต?
ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อม ทางทีมแพทย์จะเข้ามาดูแลในส่วนของการช่วยชะลอให้ไตเสื่อมช้าลง และป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งแพทย์ต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาชีพหรือสหสาขาวิชาชีพเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยในส่วนนี้ โดยจะประกอบไปด้วยทีมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด และตัวผู้ป่วยเอง ทั้งนี้แพทย์จะมีบทบาทในการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค รวมถึงแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วย และคอยประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพให้เข้ามาดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และเป็นองค์รวม เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย
วิธีการดูแลไตเพื่อชะลอความเสื่อมต้องทำอย่างไรบ้าง?
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจะต้องควบคุมโรคและอาการให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจำเป็นต้องความคุมน้ำตาลในเลือดให้ดี ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อความคุมความดัน และมาตรวจกับคุณหมอผู้ดูแลอาการอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีแนวโน้มภาวะไตเสื่อมไม่ควรซื้อยาทานเอง โดยเฉพาะยาที่ส่งผลต่อไต เช่น ยาสมุนไพร ยาบำรุง ยาคลายเส้น ฯลฯ
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นออกกำลังกาย ให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง และทางที่ดีควรมาปรึกษานักโภชนาการ เพราะรูปแบบอาหารของผู้ป่วยภาวะไตเสื่อมแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน
สรุป
แม้ภาวะไตเสื่อมจะสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับกลุ่มวัยกลางคนและกลุ่มผู้สูงอายุ ทว่าผู้สูงอายุกลับมีแนวโน้มการเป็นโรคไตมากกว่าคนวัยอื่นๆ ด้วยความที่ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะจะลดลง ซึ่งสวนทางกับอายุที่เพิ่มขึ้น แต่ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าคนที่อายุน้อยกว่าจะไม่มีความเสี่ยงของภาวะไตเสื่อมเลย เนื่องจากภาวะความผิดปกติดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคทางพันธุกรรม รวมถึงการรับประทานอาหารรสเค็มและยาบางชนิดที่มีผลกับไตโดยตรง
ฉะนั้นหากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการผิดปกติ เช่น ปัสสาวะไม่ค่อยออก แข้งขาบวมเป่ง เบื่ออาหาร หรือคลื่นไส้อาเจียนบ่อยๆ อย่างไร้สาเหตุ ก็รีบเข้ามาตรวจวินิจฉัยภาวะไตเสื่อมกับทางโรงพยาบาลไทยนครินทร์โดยทันที เพื่อเตรียมการป้องกันและหาวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ศูนย์ปลูกถ่ายไต
โรงพยาบาลไทยนครินทร์
02-340-7777