Shopping Cart

No products in the cart.

เตรียมตัวอย่างไร ก่อนผ่าตัดปลูกถ่ายไต

การปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยควรมีการเตรียมความพร้อม และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อพร้อมรับการติดต่อในการเปลี่ยนไตได้ตลอด

 

ตรวจประเมินผู้ป่วยก่อนปลูกถ่ายไต

1.ตรวจเลือด ดูการทำงานของไต – ตับ ความเข้มข้นของเลือด ตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ซีเอ็มวีไวรัส เอชไอวี และหากผู้ป่วยมีภาวะตับอักเสบต้องได้รับการตรวจรักษากับแพทย์ก่อนและผู้ป่วยที่ไม่มีภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบบีจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อนทุกราย
2. ตรวจปัสสาวะ ถ้ายังมีปัสสาวะ
3. เอกซเรย์ปอด เพื่อดูลักษณะของหัวใจและปอด
4. การตรวจหัวใจ เริ่มแรกจะมีการตรวจคลื่นหัวใจ เพื่อดูการทำงานของหัวใจ หากมีข้อบ่งชี้อาจมีการตรวจ อัลตราซาวนด์คลื่นเสียง และ/หรือวิ่งสายพานเพื่อดูความพร้อมของหัวใจ หากมีอาการผิดปกติต้องมีการแก้ไขก่อนและได้รับความเห็นชอบจากแพทย์หน่วยโรคหัวใจว่าสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้
5. ตรวจเลือด เพื่อเปรียบเทียบเนื้อเยื่อ
6. อัลตราซาวนด์ โดยแพทย์แผนกรังสีจะใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงวางบริเวณหน้าท้อง
7. การตรวจสุขภาพฟัน โดยทันตแพทย์ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพฟันต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อ

การเตรียมตัวในช่วงเวลาที่ต้องรอเปลี่ยนไต

1. ควรตรวจสอบว่าแพทย์ผู้รักษา ได้มีการส่งข้อมูลผู้รอรับทั้งหมด เพื่อมาลงทะเบียนไว้กับศูนย์บริจาคอวัยะแล้วในช่วงนั้น
2. หลังจากที่ได้มีการลงทะเบียนเพื่อขอรอรับการบริจาคไต ผู้ป่วยจะต้องตรวจเลือดทุก 2 เดือน พร้อมทั้งตรวจสภาพร่างกายทุก 2 – 3 เดือน
3. ผู้ป่วยที่ต้องการเปลี่ยนไต และผู้ป่วยสูงอายุ หรือ ผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง จะต้องถูกตรวจเพื่อดูเส้นเลือดที่จะนำไตใหม่ไปปลูกถ่าย ว่าเส้นเลือดมีความแข็งแรง และมีความแคลเซียมเกาะอยู่หรือไม่
4. ผู้ป่วยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อเข้ารับการติดต่อผู้ประสานงานการเปลี่ยนไตได้ตลอด
5. ผู้ป่วยจะต้องเข้าพบแพทย์ตามกำหนด
6. ควรส่งเลือดทุกเดือน เพื่อตรวจหาโอกาสในการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ
7. ผู้ป่วยจะต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงในช่วงระหว่างนี้

เมื่อถูกเรียกมาปลูกถ่ายไตต้องทำอย่างไร

1. งดอาหารและน้ำดื่ม อย่างน้อย 6 ชั่วโมง โดยพยาบาลจะแจ้ง ให้ทราบว่าจะต้องเริ่มงดเวลาใด
2. ให้เตรียมเดินทางมาทันทีที่พยาบาลโทรแจ้งให้เดินทางได้ ผู้ป่วยควรจะวางแผนการเดินทางโดยตรวจสอบสายการบินไว้ เตรียมรถส่วนตัว และไม่ควรเดินทางโดยรถประจำทาง
3.นำยาทุกประเภทที่รับประทานมาด้วย ถ้ามีการรับประทานยาละลายลิ่มเลือดให้แจ้งพยาบาลผู้ประสานงานฯ ด้วยทุกครั้ง
4. ไม่รับเลือดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
5. ทำการฟอกเลือดรอไว้หากท่านฟอกเลือดมานานเกิน 48 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่ล้างของเสียผ่านทางหน้าท้องให้เตรียมน้ำยาและอุปกรณ์ทุกอย่างมาโรงพยาบาลด้วย

ข้อมูลจาก ศูนย์ปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์

Share