การไปโรงเรียนจัดเป็นความเครียดหนึ่งที่เด็กต้องปรับตัวเมื่อเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ โดยเฉพาะการไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นเวลานาน หลังโควิดที่เด็กเคยชินการอยู่บ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปเจอใครเป็นเวลานาน ยิ่งส่งผลต่อการปรับตัวได้ทั้งเด็กที่เป็นการไปโรงเรียนครั้งแรก และเคยไปโรงเรียน นอกจากนี้ด้วยธรรมชาติของเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน อาจทำให้แต่ละคนมีอาการหรือพฤติกรรมแตกต่างกันไป
9 วิธีรับมือ เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียน
1. ตรวจร่างกายโดยละเอียด
เด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียน หรือมีความกังวลมักมีอาการทางกายร่วม ซึ่งควรแยกสาเหตุความเจ็บป่วยทางกายออกก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้สบายใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากโรคทางกายที่ต้องการการรักษาอื่น
2. พูดคุยกับลูกๆ ของคุณถึงสาเหตุที่ทำให้เขาไม่อยากไปโรงเรียน
อาจลองคิดถึงความเป็นไปในหลายๆ แง่มุมและสอบถามให้ครบถ้วน นอกจากการปรับตัวเพื่อเข้ากับเพื่อน ครู หรือหลักสูตรของโรงเรียนตามปกติ เด็กอาจมีความกังวลเรื่องโรคระบาดเมื่อต้องไปโรงเรียนในช่วงนี้ได้อีกด้วย เมื่อทราบแล้วลองพยายามช่วยลูกๆ ของเราแก้ปัญหาที่ทำให้เขากังวล
3. แสดงให้ลูกเห็นว่าเราเข้าใจสิ่งที่เขากังวล
ในขณะเดียวกันก็ยืนยันกับเขาถึงความสำคัญของการไปโรงเรียน เป็นธรรมดาที่เรามักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เราไม่ชอบ และเข้าหาสถานการณ์ที่สบายใจหรือปลอดภัย แต่ไม่มีทางเป็นไปตามที่เราต้องการได้ตลอดไป ดังนั้นการที่พ่อแม่เข้าใจ ช่วยเหลือในเรื่องที่ลูกไม่สบายใจ ในขณะเดียวกันก็แสดงเจตจำนงให้ลูกเห็นถึงความสำคัญของหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ จะช่วยให้เด็กเข้าใจและกล้าเผชิญสิ่งที่ตนเองต้องปรับตัวมากขึ้น
4. หาแรงจูงใจ และให้แรงเสริมเมื่อเด็กไปโรงเรียน
นอกจากคุยถึงปัญหาที่ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่อาจช่วยลูกในการหาข้อดี หรือสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เด็กอยากไปโรงเรียนมากขึ้น และเมื่อไปโรงเรียนได้รับการชม คุยเรื่องดีๆ ที่โรงเรียน หรือการให้รางวัลเล็กน้อยเป็นกำลังใจที่เด็กไปเรียนก็จะช่วยให้เขารู้สึกอยากไปโรงเรียนมากขึ้น
5. ทำกิจวัตรตอนเช้าตามแผนที่วางไป/เป็นปกติ
ถึงแม้จะเป็นวันที่ไม่ไปโรงเรียน การทำกิจวัตรประจำวันเป็นเวลาสม่ำเสมอ เช่น ปลุกตื่นนอน อาบน้ำ รับประทานอาหารเป็นเวลา จะช่วยให้ลูกปรับตัวได้ง่ายขึ้น หลายครั้งที่ตอนเช้าวันไปโรงเรียนเป็นเวลาที่ตึงเครียดเพราะมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างวันที่ไปโรงเรียนกับวันหยุด ทำให้เด็กปรับตัวได้ลำบาก
6. หลีกเลี่ยงการที่ให้เด็กรู้สึกว่าการอยู่บ้านเป็นสิทธิประโยชน์
เด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียนเพราะอยู่บ้านสบายกว่า ได้ทำตามใจตัวเองในสิ่งที่อยากทำ ดังนั้นควรมีการจำกัดกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และกำหนดกิจกรรมกิจวัตรอื่นๆ ในแต่ละวันให้ชัดเจน
7. ประสานงาน พูดคุยกับครูที่โรงเรียน
เพื่อให้ทางโรงเรียนทราบถึงสาเหตุ วางแผนร่วมกันในการช่วยเหลือเด็กเมื่อไปโรงเรียน
8. ใช้วิธีการค่อยเป็นค่อยไป
หากเด็กขาดเรียนมานาน หรือมีอาการวิตกกังวลอย่างมาก เพื่อให้เด็กมีเวลาในการปรับตัวกลับไปโรงเรียนได้ เช่น อาจให้ไปนั่งเรียนในห้องสมุดก่อน แล้วค่อยๆ เข้าห้องเรียน เรียนครึ่งวันก่อนแล้วจึงเพิ่มเป็นเต็มวัน เป็นต้น ไม่แนะนำให้มีการจัดครูไปสอนพิเศษที่บ้าน เพราะจะยิ่งทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนมากขึ้น
9. ปรึกษาจิตแพทย์เด็ก
หากคุณพ่อคุณแม่ได้ลองวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล หรือลูกมีความกังวลอย่างมาก มีความกังวลการแยกจาก รวมถึงมีอารมณ์หรือพฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม เป็นไปได้ว่าเด็กๆ อาจมีภาวะทางจิตใจอื่นๆ ที่ต้องการการประเมินและรักษาเพิ่มเติม