Shopping Cart

No products in the cart.

เวียนหัว บ้านหมุนเฉียบพลัน เกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน?

ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ ด้วยภาวะเวียนหัวเฉียบพลัน หรือบ้านหมุนเฉียบพลัน (Acute Vestibular Syndrome) อาการเวียนหัวส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง เพราะระบบการทรงตัวของเรานั้นสามารถปรับตัวได้ (Central Compensation) ดังนั้นการรับประทานยาเพื่อลดอาการเวียนหัวที่ส่งผลให้ง่วง ควรรับประทานในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 3 วัน เพื่อให้สมองได้ปรับตัว ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมอาการเวียนหัวได้ดีกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ในระยะแรกที่มีอาการเวียนหัว บ้านหมุนรุนแรง ควรต้องแยกภาวะโรคสมองออกไปก่อน ถ้าตรวจพบความผิดปกติ การตรวจร่างกายข้างเตียงที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วที่สามารถทำได้ทั้งที่แผนกฉุกเฉินหรือที่แผนกผู้ป่วยนอกคือการตรวจ HINTS (Head Impulse, Nystagmus and Test of Skew) ร่วมกับการตรวจ Dix Hallpike and Supine Roll Test ในผู้ป่วยทุกราย ในรายที่มีอาการทางหู ควรตรวจการได้ยิน ร่วมด้วย

เวียนหัว บ้านหมุน เกิดจาอะไร สาเหตุ อาการ

อาการเวียนหัว บ้านหมุน
สาเหตุเกิดจาก ‘โรคทางหู’ มากกว่า ‘โรคทางสมอง’

ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุน มักจะเป็นโรคทางหู หรือ Peripheral Vertigo มากกว่าโรคสมอง โดยโรคทางหูที่พบบ่อย ได้แก่
  • โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (Benign Paroxysmal Positional Vertigo : BPPV) พบได้ทุกเพศทุกวัย มักจะสัมพันธ์กับภาวะเครียด อดหลับอดนอน หรืออุบัติเหตุทางศีรษะ จะมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนรุนแรงขณะเปลี่ยนท่าระยะเวลาสั้นๆ เป็นวินาที มักจะเป็นซ้ำๆ ในท่าเดิม การรักษาจะใช้การทำกายภาพด้วยวิธีการจำเพาะท่อในหูชั้นในที่หินปูนเคลื่อน
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เกิดจากการบวมของน้ำในหูชั้นใน ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัวเป็นระยะๆ มากกว่า 20 นาที หรือ เป็นชั่วโมง มีเสียงในหู แน่นๆ ในหู การได้ยินลดลงชั่วขณะ
  • โรคประสาทหูชั้นในอักเสบ (Vestibular Neuritis) พบได้เป็นอันดับที่สาม ประสาทหูชั้นในประกอบด้วยส่วนที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยิน อาการเวียนหัวค่อนข้างคงที่ เป็นชั่วโมง หรือ หลายวัน อาจจะพบตามหลังหรือเกิดขึ้นช่วงติดเชื้อไวรัสหรือไม่ก็ได้ กรณีที่การได้ยินลดลงด้วย ควรนึกถึง Labyrinthitis

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการสูญเสียการได้ยินเฉียบพลันร่วมด้วย ควรนึกถึงเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณประสาทหูและบริเวณก้านสมองที่เรียกว่า Acoustic neuroma หรือ Cerebellopontine Angle Tumor ร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัย ภาวะเวียนหัว บ้านหมุน

การตรวจวิเคราะแยกโรคควรใส่ใจคิดถึงโรคต่างๆ ที่กล่าวถึงและใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการตรวจ เช่น Audiogram เพื่อตรวจการได้ยิน, vHIT (video Head Impulse Test) เพื่อการแยกภาวะโรคสมอง/ยืนยันความผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูชั้นใน, ABR (Auditory Brainstem Response) เพื่อมองหารอยโรคในก้านสมอง, ECochG (Electrocochleography) ในการมองหาภาวะ Endolymphatic hydrops หรือ Meniere’s disease, Vestibular Evoked Myogenic Potential (VEMP) ทั้ง cVEMP และ/หรือ oVEMP เพื่อช่วยในการประเมินระบบการทรงตัวที่เป็น vestibular system

การรักษา เวียนหัว บ้านหมุน

การดูแลรักษาในภาพรวม มีจุดประสงค์ 2 อย่าง คือ ช่วยควบคุมอาการ และเร่งฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว แบ่งออกเป็น
  • การใช้ยา กลุ่มแรกออกฤทธิ์กดการทำงานของหูชั้นใน ซึ่งมักจะทำให้ง่วง เมื่อดีขึ้นบ้างแล้วควรหยุดยาไปภายใน 3 วัน เพื่อไม่ให้กดกระบวนการปรับตัวของสมอง (Central Compensation) เช่น Cinnarizine หรือ Dimenhydrinate กลุ่มที่สองออกฤทธิ์ไม่กดการปรับตัวของสมอง จึงสามารถใช้ได้ในระยะยาว เพื่อเร่งการปรับตัวให้เร็วขึ้น ลดอัตราการเกิดซ้ำและลดความรุนแรงเมื่อเกิดอาการกำเริบ เช่น EGb761 (Standardized Ginkgo Biloba Extract) หรือยา Betahistine หรือยากลุ่ม Nicergoline
  • การรักษาเฉพาะโรค เช่น การทำกายภาพด้วยวิธีการจำเพาะท่อในหูชั้นในที่หินปูนเคลื่อน การควบคุมอาหารเค็มในโรค Meniere’s Disease การใช้ Steroid ในกรณีประสาทหูอักเสบ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการได้ยินลดลง

วิธีดูแลตนเอง เวียนหัว บ้านหมุน

วิธีดูแลตนเอง เมื่อมีภาวะเวียนหัว บ้านหมุน

นอกจากนั้นการดูแลตนเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นก็ยังคงมีความสำคัญต่อการรักษาและการป้องกันการเกิดโรค ผู้ที่มีอาการเวียนหัว บ้านหมุน ควรปฏิบัติดังนี้
  • หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ควรจะเคลื่อนไหวช้าลง ระมัดระวังการพลัดตกหกล้มและสถานที่เสี่ยง เช่น การปีนป่ายที่สูง
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เวียนหัวมากขึ้น เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ลดปริมาณ หรืองดการสูบบุหรี่/เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์/กาแฟ

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. สดมภ์ เพียรพินิจ
นพ. สดมภ์ เพียรพินิจ
หัวหน้าแพทย์ประจำสาขาหู คอ จมูก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์