Shopping Cart

No products in the cart.

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope และการดูแลตัวเองหลังเข้ารับการผ่าตัด

ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ยกระดับไปอีกขั้น ด้วยเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope หรือการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์อยากแนะนำ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ลดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope และการดูแลตัวเองหลังเข้ารับการผ่าตัดจะต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก เพื่อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพและผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปกันเลย!

ผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope คืออะไร?

เป็นวิธีการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยกล้อง Endoscope มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดเล็กพอสมควร ส่วนภายในนั้นมีระบบนำแสงพิเศษรวมถึงช่องสอดเครื่องมือสำหรับสอดส่ายเข้าไปในตัวผู้ป่วย ผ่านทางแผลขนาด 0.8-1 เซนติเมตร ที่เรียกได้ว่ามีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดเปิดแผลแบบปกติมากเป็นเท่าตัว

นอกจากนี้การผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นด้วย เนื่องจากการที่แพทย์เปิดแผลขนาดเล็กสำหรับส่องกล้อง ทำให้ศัลยแพทย์ไม่จำเป็นต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อบางส่วนที่บดบังการมองเห็นส่วนที่เป็นปัญหาออก ผู้ป่วยจึงไม่เสียเลือดมาก ทั้งยังลดการบอบช้ำของเนื้อเยื่อและปลอดภัยจากภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดอีกด้วย ดังนั้น เพียงเวลาไม่นานหลังการผ่าตัดผู้ป่วยก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุขได้แล้ว

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง

ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope

  • แผลผ่าตัดส่องกล้องมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลปกติ
  • เจ็บแผลน้อยไม่เสียเลือดมาก
  • ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
  • ประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด

โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดเปิดแผลแบบปกติ แต่ทว่าสำหรับการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเลือดเยอะและใช้ระยะเวลาดำเนินการสั้นกว่า จะช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการผ่าตัดลงได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อบริเวณหมอนรองกระดูกสันหลังหรือบริเวณแผลผ่าตัด
  • หากบาดแผลมีขนาดกว้างจนเกินไป ถุงหุ้มเส้นประสาทอาจฉีกขาดได้
  • ผู้ป่วยหมอนรองกระดูกทับเส้น มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกครั้ง หากทำการผ่าตัดในตำแหน่งที่ใกล้เคียง

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง กระดูกสันหลัง

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง Full Endoscopic

เมื่อผู้ป่วยตกลงเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope แพทย์จะสอบถามประวัติการรักษา ตรวจร่างกายเบื้องต้น และอาจตรวจสอบเพิ่มเติมที่ห้องปฏิบัติการ อาทิ ตรวจเลือด ตรวจระบบการทำงานของปอดและหัวใจ การเอกซเรย์อวัยวะภายในบริเวณที่จะทำการผ่าตัด รวมถึงการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทั้งนี้เพื่อประเมินความพร้อมทางด้านร่างกายของผู้ป่วย ก่อนที่จะทำการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope ต่อไป ทางด้านผู้ป่วยเองก็ต้องร่วมมือกับแพทย์ในการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope ด้วยเช่นกัน โดยการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยมีวิธีการดังนี้

  • แจ้งประวัติการใช้ยาและประวัติการแพ้ยา เพราะยาบางตัวหากใช้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ฯลฯ
  • งดอาหารทุกชนิดนานอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารขณะให้ยาชาระงับความรู้สึก ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็กไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ จึงช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยสูงอายุได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและพร้อมต่อการเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้องอย่างเต็มที่
  • งดเครื่องดื่มและสิ่งมึนเมาก่อนเข้ารับการผ่าตัด อย่างน้อย 1 วัน
  • ทำความสะอาดร่างกายและมาถึงก่อนเวลานัดหมาย 1 ชั่วโมง

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง Full Endoscopic

การดูแลตัวเอง ‘หลัง’ เข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope

เมื่อออกจากห้องผ่าตัดผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนแรงราวๆ 2-3 วัน ทั้งนี้การลุกจากเตียงและหมั่นขยับร่างกายจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ หากแพทย์ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำก็หมดห่วงเรื่องแผลเปียกชื้น แต่ในกรณีที่แพทย์ใช้พลาสเตอร์ปกติปิดแผล ผู้ป่วยต้องระวังอย่างมากไม่ให้แผลโดนน้ำเป็นอันขาด นอกจากนี้ข้องดเว้นอื่นๆ ที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาชาโดยฉีดเข้าที่บริเวณช่องสันหลัง หรือบริเวณเส้นประสาทจำเป็นต้องระมัดระวังตัว เพราะไม่แน่ว่ายาชาอาจยังไม่หมดฤทธิ์ดีจนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • กรณีมีอาการปวดแผลภายหลังจากผ่าตัดส่องกล้อง ให้แจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อขอยาระงับอาการปวด โดยอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังทานยา
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการยกสิ่งของหนักเกิน 4 กิโลกรัม
  • งดออกกำลังกายอย่างหนักประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการขับรถระยะทางไกลอย่างน้อย 7-10 วัน
  • ห้ามท้องผูก หรือต้องเบ่งถ่ายแรงๆ
  • งดการไอจามแรงๆ ถ้าไม่จำเป็น

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดส่องกล้อง ผู้สูงอายุ

 สรุป

แม้ว่าการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope จะมีความปลอดภัยมากแค่ไหน แต่ทางที่ดีผู้เข้ารับการผ่าตัดส่องกล้องก็ควรเตรียมความพร้อมและดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน เพื่อให้ศัลยแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น ตลอดจนลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น นอกจากนี้หากใครที่กำลังตัดสินใจจะเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง Endoscope เปิดแผลเล็ก และมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เพื่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ก่อนทำการรักษาโรคกระดูกและข้อได้เลย!

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
นพ. วิวัฒน์ ชวาลภาฤทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์