Shopping Cart

No products in the cart.

โอมิครอน (Omicron) โควิดสายพันธุ์ใหม่ ติดเชื้อเร็ว แพร่เชื้อง่าย

โอมิครอน (Omicron) โควิดสายพันธุ์ใหม่ ติดเชื้อเร็ว แพร่เชื้อง่าย

โควิด B.1.1.529 เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) และตั้งชื่อเป็นตัวอักษรภาษากรีกว่า ‘Omicron’ โดยไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้

 

นักวิจัยพบว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) 32 ตำแหน่ง ซึ่งคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลต่อความรุนแรงของโรค ความสามารถในการแพร่ระบาด และประสิทธิภาพต่อวัคซีนได้ โดยมีแนวโน้มที่เชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ดีกว่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 2-5 เท่า เนื่องจากพบจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายจังหวัดของประเทศแอฟริกาใต้

โอมิครอน (Omicron) โควิดสายพันธุ์ใหม่

และในขณะนี้พบมีการระบาดประเทศอื่นๆ นอกประเทศแอฟริกาใต้ เช่น ออสเตรเลีย เบลเยียม สหราชอาณาจักร แคนาดา โครเอเชีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อินเดีย อิสราเอล นามิเบีย นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน โมซัมบิก สิงค์โปร์ เกาหลีใต้ สเปน อาร์เจนตินา ออสเตรีย บราซิล ชิลี สาธารณรัฐเชก ฟิจิ ฟินแลนด์ กานา กรีซ ฮ่องกง ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลักเซมเบิร์ก มาเลเซีย มัลดีฟส์ เม็กซิโก เนปาล เนเธอร์แลนด์ ไนจีเรีย นอร์เวย์ เรอูเนียง โรมาเนีย รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไทย ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยูกันดา เอสโตเนีย คูเวต ลิกเตนสไตน์ คิวบา เลบานอน บาห์เรน บังกลาเทศ และไต้หวัน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก วันที่ 12 ธันวาคม 2564)

ในส่วนของความรุนแรงของโรคนั้น ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่บอกว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าหรือไม่ สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อ Omicron ก็เช่นกัน จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในส่วนการตรวจหาเชื้อ Omicron ด้วยวิธี PCR นั้น ยังสามารถทำได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสมี Mutation บางส่วน ทำให้ตรวจไม่พบ S gene เรียกว่า S gene target failure (SGTF) แต่ยังตรวจพบ ORF และ N gene ดังนั้นห้องแลปสามารถใช้ SGTF เป็นตัวคัดกรองหาเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้

โอมิครอน (Omicron) โควิดสายพันธุ์ใหม่

สำหรับอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้ง ไข้ต่ำๆ และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน แต่ยังไม่พบการสูญเสียการรับรสหรือกลิ่น และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ได้ตลอด โดยธรรมชาติแล้วสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม ดังนั้นเราจึงไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดในเรื่องของการป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆด้วยแอลกอฮอลล์หรือน้ำสบู่ รักษาระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงไปตามสถานที่ชุมชนแออัดและเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและหากติดเชื้อก็ยังช่วยลดความรุนแรงและโอกาสเสียชีวิตได้

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. กฤติญา ชัยโชติจินดา
พญ. กฤติญา ชัยโชติจินดา
กุมารแพทย์ทั่วไปและสาขาโรคติดเชื้อในเด็ก โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์