Shopping Cart

No products in the cart.

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง เกิดจากอะไร รักษาด้วยวิธีไหน?

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) คือโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งมีอาการเป็นๆ หายๆ พบได้บ่อยในวัยเด็ก แต่สามารถพบได้ในผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน สามารถพบร่วมกับอาการแพ้อื่นๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบ (Allergic conjunctivitis) , ภูมิแพ้อากาศ ,เยื่อบุจมูกอักเสบ (Allergic rhinitis) หรือ หอบหืด (Asthma) โดยโรคในผู้ป่วยภูมิแพ้ผิวหนังส่วนใหญ่เมื่อมีอาการในวัยเด็กและอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

 

 

 

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง คืออะไร

โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ภาวะ Filaggrin mutation และสาเหตุจากปัจจัยภายนอก เช่น อากาศแห้ง สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ,อาบน้ำอุ่น ,ไรฝุ่น ,ความเครียด ,เหงื่อ ,อาหารบางชนิด เช่น นม ไข่ สามารถทำให้ภูมิแพ้ผิวหนังมีอาการกำเริบ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ แต่เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความไวต่อสภาวะเหล่านั้น ทำให้ผื่นเห่อและเป็นเรื้อรัง

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง สาเหตุเกิดจากอะไร

อาการที่พบบ่อยของคนที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง

ลักษณะอาการของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อย คือ ผื่นผิวหนังอักเสบ ,แดง ,แห้ง ,บริเวณคอ ,ซอกพับ ,ด้านในแขนและขา มีอาการเรื้อรังเป็นๆ หาย ๆ ลักษณะของผื่นที่พบได้ มักเป็นตุ่มหรือผื่นแดง อาจพบเป็นตุ่มน้ำใสแตกเป็นแผลมีน้ำเหลืองไหลได้ มีอาการคันมาก หากเป็นแบบเรื้อรัง ผื่นจะมีความหนาแข็ง เป็นขุย นอกจากนี้อาจจะพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบที่เปลือกตา ปากแห้ง เส้นรอยพับที่คอเห็นชัดขึ้น ขนคุด ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือเท้า ผิวแห้งคล้ายเกล็ดปลา เส้นลายมือชัด เป็นต้น

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง อาการที่พบบ่อย

การรักษา สามารถทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?

การรักษาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเพื่อประเมินความรุนแรงและความเหมาะสมในการรักษา สำหรับการรักษาเบื้องต้นใช้ยาทาประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่เลือกความเข้มข้นเหมาะสมต่ออายุผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยเด็กจะมีผิวที่บางกว่าผู้ใหญ่ รวมถึงต้องพิจารณาจากตำแหน่งและรอยโรคของผื่น

สำหรับสิ่งที่สำคัญควบคู่กันคือ ครีมให้ความชุ่มชื้น (Moisturizer) เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการผิวแห้ง แพ้ได้ง่าย ควรเสริมความแข็งแรงให้กับผิวเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนังร่วมด้วยควรพิจารณายาฆ่าเชื้อปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อในกลุ่ม Staphylococcus spp. นอกจากนี้ในปัจจุบันมียาทาประเภท Calcineurin inhibitor ที่ช่วยควบคุมอาการของโรค ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเช่นเดียวกัน

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง

สำหรับอาการคัน สามารถให้ยาต้านฮิสตามีนเพื่อช่วยบรรเทาอาการคันในผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการเกาที่สามารถทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจต้องพิจารณาการรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การฉายแสงอาทิตย์เทียม หรือ ยากดภูมิชนิดรับประทาน หรือยาชนิดฉีด Dupilumab

ลดเสี่ยง เลี่ยงเป็นภูมิแพ้ผิวหนัง

  • ในช่วงอากาศหนาว จะทำให้ผิวแห้งมากขึ้น แนะนำทาครีมให้ความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยง สบู่ สารชำระล้างที่มีกลิ่นหอม และค่าความเป็นกรดด่างที่สูงเกินไป เนื่องจากสามารถชำระล้างไขมันดีบริเวณผิว ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย และผื่นกำเริบ
  •  งดการแกะเกาบริเวณผื่น เนื่องจากทำให้ผื่นมีการกำเริบได้ง่าย
  •  หลีกเลี่ยงบริเวณที่มี ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือ ฝุ่น
  •  เสื้อผ้าประเภทที่มีขนสัตว์เป็นส่วนประกอบ มีรายงานว่า สามารถทำให้ผื่นเห่อได้
  •  ประมาณ 10% ของ ผู้ป่วยภูมิแพ้ผิวหนัง มักเป็นผู้ป่วยเด็ก สามารถพบว่า ถูกกระตุ้นด้วย อาหารบางประเภท เช่น นม ไข่ ถั่ว
  •  ควรทำจิตใจให้สบาย ไม่กังวล เนื่องจากความเครียดส่งผลต่อความรุนแรงของโรคได้

โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ดูแลตัวเองอย่างไร

แนะนำปรึกษาและร่วมดูแลการรักษากับแพทย์เฉพาะทางผิวหนังเพื่อให้ผื่นสงบ ลดการกลับเป็นซ้ำและหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ของแต่ละบุคคล ที่สามารถกระตุ้นในเกิดผื่นกำเริบได้

 

 

Share
ผู้ที่เขียนบทความ
พญ. ชญาณี ลิขิตวัฒนานุรักษ์
พญ. ชญาณี ลิขิตวัฒนานุรักษ์
แพทย์ที่ปรึกษาสาขาผิวหนัง โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์