Shopping Cart

No products in the cart.

‘โรคสะเก็ดเงิน’ ปัญหาผิวหนัง…ที่ไม่ควรมองข้าม

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

‘สะเก็ดเงิน’ เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด การรักษาต้องวางแผนระยะยาวและรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค ถ้าเป็นผื่นไม่มาก รักษาโดยการใช้ยาทา TAR, Anthralin, คอร์ติโคสเตียรอยด์, วิตามินดี 3 ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเล็ต ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งยาในการรักษาเหล่านี้มีผลข้างเคียง ไม่ควรซื้อมาทาหรือรับประทานเอง ส่วนผื่นบริเวณหนังศีรษะควรใช้แชมพูยาที่ส่วนผสมของ TAR ร่วมกับยาทา

 

สาเหตุของการเกิดโรคสะเก็ดเงิน

  • เป็นโรคผิวหนังที่ไม่ติดต่อ พบได้ทุกเพศทุกวัย และพบได้ในคนทุกเชื้อชาติทั่วโลก
  • สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด
  • มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังจึงไม่สมบูรณ์
  • เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • กระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นไข้หวัด ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

  1. เป็นผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดสีเงินปกคลุม
  2. เมื่อขูดลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง
  3. มักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง
  4. ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย
  5. ที่ศีรษะมีผื่นแดงลอกเป็นขาวคล้ายรังแค
  6. อาจมีการเปลี่ยนแปลงของเล็บร่วมด้วย เช่น มีเล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อน ร่อนเป็นปื้นขาวหรือหลุมเล็กๆ บริเวณผิวเล็บ
  7. อาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย

ปัจจัยที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ

  • บาดแผลบนผิวหนัง ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินถ้าถูกของมีคมเป็นแผลหรือแม้แต่เกิดรอยถลอกเพียงเล็กน้อย อาจทำให้เกิดผื่นของโรคที่บริเวณนั้น
  • การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในช่วงฤดูร้อนเพราะได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ต และอาจจะกำเริบในช่วงฤดูหนาวซึ่งอากาศแห้ง
  • ความเครียดที่มีผลต่อร่างกาย เช่น ภาวะติดเชื้อ เป็นไข้หวัด พักผ่อนน้อย ทำให้ผื่นกำเริบได้

การดูแลตนเองเบื้องต้น

  1. ทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดอาการผิวแห้งและระคายเคือง
  2. ใช้สบู่อ่อนๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองของผิวหนัง ซึ่งจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบมากขึ้น
  3. ห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาดผิว เพราะโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ และน้ำยาฆ่าเชื้อจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและทำให้ผื่นกำเริบได้
  4. อาหารไม่มีผลต่อโรคนี้ แต่การดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์จะทำให้ผื่นกำเริบมากขึ้น
  5. อย่าเกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่น จะทำให้เลือดออก และผื่นกำเริบได้
  6. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เป็นหวัด ไม่เครียด
Share
ผู้ที่เขียนบทความ
นพ. สุรพล ลิขิตวัฒนานุรักษ์
นพ. สุรพล ลิขิตวัฒนานุรักษ์
หัวหน้าแผนกผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ข้อมูลแพทย์