Shopping Cart

No products in the cart.

ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ รับประทานอาหารอะไรได้บ้าง ?

ภาวะโรคไตวายเรื้อรังส่งผลให้การทำงานของไตผิดปกติไปจากเดิม กล่าวคือ ไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ ด้วยเหตุนี้ การดูแลผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่ายไต อาหารที่เลือกรับประทานควรผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อรักษาสมดุลไม่ให้ไตใหม่ทำงานหนักจนเกินไป และในวันนี้เราจะพาคุณไปดูว่า ผู้ป่วยโรคไตที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่ายไต สามารถรับประทานอาหารประเภทใดได้บ้าง หรือควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานอาหารชนิดไหนเป็นพิเศษ ? ซึ่งถ้าทุกคนพร้อมกันแล้ว อย่ามัวรีรอ ตามไปดูกันได้เลย !!

อาหารประเภทไหนบ้าง ? ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลังทำการปลูกถ่ายไต

ควรเป็นอาหารปรุงสุก สะอาด และรับประทานอาหารที่หลากหลาย ซึ่งหลังจากการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผู้ป่วยจะได้รับ ‘ยากดภูมิคุ้มกัน’ ในปริมาณสูง ดังนั้น สารอาหารสำหรับผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไตที่จำเป็นต่อร่างกายและควรรับประทานเป็นประเภทแรกเลย คือ โปรตีน ที่ควรได้รับประมาณ 1.3-1.5 กรัม / น้ำหนักตัว เช่น ถ้าผู้ป่วยหนัก 60 กิโลกรัม ให้คูณด้วย 1.3 กรัม จะได้ค่าโปรตีนผู้ป่วยที่ควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 78 กรัม และหลังจากนั้นค่อยทานน้อยลงอาจเหลือราว ๆ 0.8 กรัม / น้ำหนักตัว ซึ่งสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งทำการปลูกถ่ายไตใหม่ อาหารที่แพทย์แนะนำให้รับประทาน มีดังต่อไปนี้

  • โปรตีน : เนื้อไม่มีมันและไม่ติดหนัง เช่น เนื้ออกไก่ เนื้อปลา หรือเนื้อสันใน เป็นต้น
  • คาร์โบไฮเดรต : ประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เป็นต้น
  • ไขมัน : ไขมันชนิดไม่อิ่มตัว และควรได้รับน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด
  • นม : ดื่มนมพร่องมันเนย เนื่องจากมีไขมันน้อยกว่านมชนิดอื่น

หากผู้ป่วยไม่ได้มีค่าโพแทสเซียมสูงเกินไป ก็จะสามารถรับประทานผักกับผลไม้ได้ตามปกติ ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย อาหารแต่ละมื้อก็จำเป็นต้องคุมเรื่องปริมาณ ‘คาร์โบไฮเดรต’ ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป

ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทใด ?

ในช่วงแรกหลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับ ยากดภูมิคุ้มกันเป็นประจำ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดค่อนข้างสูง และอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต จึงควรหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารชนิดต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง : น้ำอัดลม, น้ำผลไม้, นมเปรี้ยว และชานม ส่วนกาแฟหรือชาชนิดไม่หวานจะมีค่าคาเฟอีนสูง หากผู้ป่วยไม่มีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ ก็สามารถดื่มได้ตามปกติ
  • อาหารที่มีโซเดียมสูง : อาหารหมักดอง, อาหารแปรรูป, อาหารกระป๋อง, ซอสปรุงรสต่าง ๆ และขนมขบเคี้ยว เนื่องจากร้อยละ 60-80 ของผู้ป่วยปลูกถ่ายไต มักจะเกิดภาวะโรคความดันโลหิตสูงตามมา
  • อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ : ลาบสด, ซูชิ, ซาซิมิ ฯลฯ
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เบียร์, ไวน์, ค็อกเทล เป็นต้น

หลังการปลูกถ่ายไตผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้ในปริมาณเท่ากับคนทั่วไปหรือไม่ ?

ภายหลังจากการปลูกถ่ายไต อาหารที่ผู้ป่วยควรรับประทานจำเป็นต้องสะอาดถูกสุขอนามัย เช่นเดียวกับน้ำดื่มที่ผู้ป่วยสามารถดื่มได้ในปริมาณ 1.5-2 ลิตรต่อวัน เหมือนกับคนทั่วไป หากแต่น้ำต้องสะอาดผ่านการกรองตามมาตรฐานสากลทุกประการเป็นดีที่สุด

คำแนะนำสำหรับญาติในการดูแลผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไต

 ระยะ 3 เดือนแรกหลังการผ่าตัด ญาติจำเป็นต้องดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่มอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต หากรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อได้ง่าย โดยแนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนสัมผัสกับอาหาร นำภาชนะไปลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อก่อนใส่อาหาร และญาติผู้ดูแลต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง พร้อมสำหรับในการดูแลผู้ป่วย

 นอกจากนี้ญาติควรคอยระวังไม่ให้แผลผ่าตัดจากการปลูกถ่ายไตของผู้ป่วยโดนน้ำ ร่างกายสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน หรือยกของหนัก เพราะแผลผ่าตัดอาจเกิดการอักเสบ และป่วยเป็นไข้ได้ง่ายกว่าคนปกติ ส่วนเรื่องการรับประทานอาหาร ญาติควรจดบันทึกรายการอาหารเอาไว้ เพื่อให้หมอผู้ดูแลอาการทราบว่า ผู้ป่วยรับประทานอะไรบ้างในวันนั้น ๆ 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่ายไต เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด

  • ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ : เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ เช่น โรคอ้วนหรือโรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งภาวะเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อไตได้เช่นเดียวกัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ : หากร่างกายทำงานหนักเกินไปจนพักผ่อนไม่เพียงพอและเกิดความเครียด ก็อาจส่งผลให้ร่างกายฟื้นฟูไม่ได้เต็มที่หลังการปลูกถ่ายไต
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด : เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาหลังจากการปลูกถ่ายไตใหม่

สรุป

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไต อาหารการกินต้องสะอาดถูกสุขอนามัยและมีประโยชน์เป็นเรื่องสำคัญ โดยญาติผู้ป่วยต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ‘ยากดภูมิคุ้มกัน’ มีผลทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วยหากไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในอาหาร  อีกทั้งผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่จะมีโอกาสติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนปกติ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการปลูกถ่ายไต อาหารคือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกนั่นเอง

ส่วนใครที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังหรือมีคนรู้จักที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ ก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคไต รวมถึงเรื่องอาหารการกินหลังการปลูกถ่ายไตได้ที่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เรามีทีมแพทย์เฉพาะทางและสหสาขาวิชาชีพพร้อมให้บริการคุณเสมอ 

 

บทความโดย : แผนกโภชนบำบัด โรงพยาบาลไทยนครินทร์             

Share