โรคมะเร็ง และรังสีรักษา
มะเร็งและรังสีรักษา
บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือทางรังสีรักษาที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย
โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทาง ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย
ปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคเฉพาะบุคคล เนื่องจากมีความผิดปกติในระดับพันธุกรรม หรือ DNA ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน การรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดจึงต้องผสมผสานด้วยหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี โรงพยาบาลไทยนครินทร์มีกระบวนการรักษาและเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่จะนำไปสู่การวินิจฉัย รักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาเพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบหรือผลข้างเคียงให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
อาคารรังสีรักษา (LINAC CENTER)
อาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ มีความพร้อมให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือทางรังสีรักษาที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางในการให้คำปรึกษาการบำบัดรักษาร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย ทั้งนี้โรงพยาบาลไทยนครินทร์มุ่งหวังให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาแบบ Personalized Cancer Care ที่มีประสิทธิภาพ โดยรังสีรักษาให้บริการที่อาคารรังสีรักษา (บริเวณด้านหลังอาคารโรงพยาบาลไทยนครินทร์)
เปิดให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-16.30 น.
ติดต่อสอบถามโทร.062-590-1919
โรคมะเร็งกับการฉายรังสีรักษา
รังสีรักษา เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็ง โดยโรคมะเร็งส่วนใหญ่แล้วบทบาทการรักษาจะมีทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี ซึ่งประมาณ 50% ใช้การรักษาด้วยรังสี ตัวอย่างของโรคที่ใช้รังสีรักษา เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก
𝙑𝙞𝙩𝙖𝙡 𝘽𝙚𝙖𝙢
เป็นเครื่องฉายรังสีที่ใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด สามารถปรับรูปแบบลำรังสีให้เหมาะกับขนาดและรูปร่างของก้อนมะเร็ง ใช้ระยะเวลาในการฉายรังสี 10-15 นาที/ครั้ง ปรับความเข้มของรังสีได้ หมุนได้รอบตัวผู้ป่วย โดยจะทำลายเซลล์มะเร็งในขณะที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อย โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ พร้อมให้บริการแล้ววันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิ์ สามารถเข้าถึงการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ผ่านเครือข่าย Eastern Cancer Network ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์, โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา (CAH) และสหคลินิกฉะเชิงเทรา(SCC)
ปัจจุบันเทคโนโลยีของเครื่องฉายรังสีมีการพัฒนาไปมาก ทำให้ได้การรักษาที่แม่นยำ สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นและลดผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ โรคมะเร็งกับการฉายรังสีรักษา
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งศีรษะและลำคอ
- มะเร็งปอด
- มะเร็งหลอดอาหาร
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งสมอง
รังสีรักษามี 2 รูปแบบ
1. การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy)
เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ออกมาจากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย โดยเริ่มจากการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองการรักษา (CT Simulator) เพื่อระบุตำแหน่ง ขอบเขต ขนาดของรอยโรคและอวัยวะข้างเคียง โดยแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์จะนำภาพที่ได้ไปจำลองแผนการรักษา ขั้นตอนต่อมาจะนำแผนการรักษาที่วางไว้มาฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี (Linear Accelerator) โดยมีเทคนิคการฉายรังสี เช่น การฉายรังสีแบบสามมิติ (3DCRT), การฉายรังสีแปรความเข้มแบบหมุนรอบตัว (VMAT), การฉายรังสีร่วมพิกัด (SBRT) โดยแพทย์จะเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวโรคและผู้ป่วยทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และใช้เวลาไม่นาน
2. การฉายรังสีระยะใกล้หรือการใส่แร่ (Brachytherapy)
เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆกับก้อนมะเร็ง การเลือกวิธีฝังแร่ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และระยะของโรค เป็นต้น เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสม และการใส่แร่อาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด
ขั้นตอนการฉายรังสี
- แพทย์ประเมินสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนเริ่มทำการรักษาและพูดคุยถึงแนวทางการรักษา
- จากนั้น นัดผู้ป่วยจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำภาพมาวางแผนการฉายรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์
- ระหว่างการฉายรังสีผู้ป่วยจะถูกจัดตำแหน่งให้อยู่นิ่งด้วยอุปกรณ์ยึดตรึง โดยนักรังสีรักษาจะทำการตรวจสอบตำแหน่งก่อนฉายรังสีทุกครั้ง
- การฉายรังสีจะใช้เวลาวันละประมาณ 15-20 นาที โดยจะฉายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ ตามแต่ละชนิดของโรคและแผนการรักษาของแพทย์
เทคโนโลยีทางการแพทย์
เครื่องจำลองการรักษา (Philip; Big bore radiation therapy)
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography scanner and simulator) ที่ใช้จำลองภาพ 3 มิติ เพื่อระบุตำแหน่ง รูปร่างและขนาดของก้อนมะเร็ง ตลอดจนอวัยวะใกล้เคียง โดยเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อวางแผนการรักษา (Treatment planning system) ทำให้แพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์สามารถวางแผนขนาดและทิศทางของลำรังสีได้ชัดเจน
เครื่องเร่งอนุภาค (Varian; Vital Beam)
เครื่องฉายรังสีที่ใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูงสามารถปรับรูปแบบลำรังสีให้เหมาะกับขนาดและรูปร่างของก้อนมะเร็ง โดยจะทำลายเซลล์มะเร็งในขณะที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อย ใช้ระยะเวลาในการฉายรังสี 10-15 นาทีต่อครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล
Vital Beam
เทคนิคการฉายรังสี
Three Dimensional Conformal Radiotherapy (3D-CRT)
เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติ คือ การรักษาที่ใช้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทำให้เห็นก้อนเนื้องอกและอวัยวะปกติในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อกำหนดขอบเขตการรักษาจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยวิธี CT simulation จะทำให้ปริมาณรังสีกระจายอย่างสม่ำเสมอ มีความถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถให้ปริมาณรังสีสูงเฉพาะบริเวณเซลล์มะเร็ง และลดปริมาณรังสีที่จะกระทบเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ เซลล์มะเร็ง
Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT)
เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติแบบปรับความเข้ม คือ พัฒนาการอีกระดับของการฉายรังสี 3 มิติ (3D-CRT) สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ เป็นวิธีการที่ใช้ปริมาณรังสีที่มีความเข้มต่างกัน และยังประกอบด้วยลำรังสีขนาดต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้น ๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม
Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT)
เทคนิคใหม่ล่าสุดของการฉายรังสี ซึ่งพัฒนามาจากเทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT มีการปรับความเข้มของลำรังสี สามารถควบคุมความเร็วของการหมุน ปริมาณของรังสี และการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสี (MLC) จึงช่วยลดระยะเวลาของการฉายรังสี และลดความผิดพลาดที่เกิดจากการขยับตัวของผู้เข้ารับบริการอีกด้วย รวมทั้งทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้นๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม
Radiosurgery
รังสีศัลยกรรมหรือรังสีร่วมพิกัด คือการรักษาโดยการให้รังสีเอกซ์ปริมาณสูงไปยังเป้าหมายด้วยความแม่นยำ จุดประสงค์เพื่อทำลายก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง ใช้เป็นทั้งการรักษาหลักในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ทั้งบริเวณสมอง ไขสันหลัง (SRS/SRT)และบริเวณลำตัว (SBRT) เช่น ปอดและตับ โดยรังสีศัลยกรรมมีความแตกต่างจากการฉายรังสีแบบทั่วไป คือจะมีการใช้ปริมาณรังสีต่อครั้งที่สูงกว่า แต่จำนวนครั้งของการฉายรังสีจะน้อยกว่า นอกจากนี้ รังสีศัลยกรรมสามารถจำกัดรังสีปริมาณสูงให้อยู่เฉพาะบริเวณก้อนเนื้องอก หรือมะเร็งได้ดีกว่าการฉายรังสีแบบทั่วไป
Stereotactic Radiotherapy (SRT)
การฉายรังสีปริมาณสูงจำนวน 3-7 ครั้งที่ก้อนเนื้องอกบริเวณศีรษะ หรือไขสันหลัง เพื่อลดผลข้างเคียงจากวิธีฉายรังสีแบบครั้งเดียว แต่มีข้อจำกัดคือต้องมีอุปกรณ์ที่จำเพาะ ซึ่งทำให้สามารถจัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ
Stereotactic Body Radiation Therapy (SBRT)
การฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนบริเวณลำตัว เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้รังสีจำนวน 3-7 ครั้ง