Shopping Cart

No products in the cart.

มะเร็งและรังสีรักษา

บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือทางรังสีรักษาที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทาง ร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย

อาคารรังสีรักษา
ทุกวัน 08.00-16.30 น.

ปัจจุบันมะเร็งเป็นโรคเฉพาะบุคคล เนื่องจากมีความผิดปกติในระดับพันธุกรรม หรือ DNA ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมไม่เหมือนกัน การรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดจึงต้องผสมผสานด้วยหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี โรงพยาบาลไทยนครินทร์มีกระบวนการรักษาและเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่จะนำไปสู่การวินิจฉัย รักษา และการฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาเพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบหรือผลข้างเคียงให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

อาคารรังสีรักษา (LINAC CENTER)

อาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ มีความพร้อมให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือทางรังสีรักษาที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางในการให้คำปรึกษาการบำบัดรักษาร่วมกับสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย ทั้งนี้โรงพยาบาลไทยนครินทร์มุ่งหวังให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาแบบ Personalized Cancer Care ที่มีประสิทธิภาพ โดยรังสีรักษาให้บริการที่อาคารรังสีรักษา (บริเวณด้านหลังอาคารโรงพยาบาลไทยนครินทร์)

เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.
ติดต่อสอบถามโทร.062-590-1919

โรคมะเร็งกับการฉายรังสีรักษา

รังสีรักษา เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็ง โดยโรคมะเร็งส่วนใหญ่แล้วบทบาทการรักษาจะมีทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี ซึ่งประมาณ 50% ใช้การรักษาด้วยรังสี ตัวอย่างของโรคที่ใช้รังสีรักษา เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก 

𝙑𝙞𝙩𝙖𝙡 𝘽𝙚𝙖𝙢

เป็นเครื่องฉายรังสีที่ใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด สามารถปรับรูปแบบลำรังสีให้เหมาะกับขนาดและรูปร่างของก้อนมะเร็ง ใช้ระยะเวลาในการฉายรังสี 10-15 นาที/ครั้ง ปรับความเข้มของรังสีได้ หมุนได้รอบตัวผู้ป่วย โดยจะทำลายเซลล์มะเร็งในขณะที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อย โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

โรคมะเร็งที่พบบ่อย

อาการมะเร็งเต้านม

อาการเริ่มแรกของมะเร็งเต้านมมักคลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ หรือเต้านมมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป ขนาดใหญ่ เล็กไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัดข้างใดข้างหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม

ส่วนอาการแสดงที่ค่อนข้างชัดเจน คือ มีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างหนึ่ง อาจเป็นเล็กน้อยหรือเป็นมากก็ได้ มีอาการบวมแดง หัวนมยุบตัวเข้าไปในเต้านม หรือไม่สม่ำเสมอ โดยไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือไม่ได้เกิดจากการผ่าตัด มีของเหลว เช่น น้ำเหลืองใสๆ ที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม

การคัดกรองมะเร็งเต้านมสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเริ่มต้นคัดกรองเบื้องต้นด้วยตัวเอง หรือการพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยจะช่วยให้ผลการวินิจฉัยออกมาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ได้แก่

  1. ดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital mammogram)
  2. อัลตราซาวนด์เต้านม (Ultrasound)
  3. คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  4. ตรวจวินิจฉัยและตรวจชิ้นเนื้อ (Diagnosis and Biopsy)
การรักษามะเร็งเต้านม

การผ่าตัดรักษาและเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีทางเลือกในการผ่าตัดรักษาที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

  1. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด (Total Mastectomy)
  2. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดร่วมกับการเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ทันทีด้วยเนื้อเยื่อตนเอง (Tissue Reconstruction) และการใช้วัสดุเทียมเต้านม (Breast Implant)
  3. การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast Conserving Surgery)
  4. การเสริมสร้างเต้านมขึ้นใหม่ภายหลังการผ่าตัดเต้านม (Delayed Breast Reconstruction)
  5. การตรวจวินิจฉัยรักษาและผ่าตัดโรคและความผิดปกติของเต้านมอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง
อาการมะเร็งปอด

ในระยะแรกของมะเร็งปอดมักจะไม่แสดงอาการ แต่อาการมักจะเพิ่มขึ้น เมื่อมะเร็งมีการเจริญเติบโตขึ้น และอาการขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อน โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  1. ไอเรื้อรัง พบได้ประมาณ 50-75%
  2. ไอมีเสมหะปนเลือด ซึ่งอาจมีปริมาณเล็กน้อย หรือเลือดสดก็ได้
  3. เหนื่อยง่ายหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก หายใจมีเสียงดังผิดปกติ เสียงแหบ
  4. เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  5. รวมถึงอาการที่เกิดจากการลุกลามของมะเร็ง เช่น ปวดกระดูก ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
 
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด

การวินิจฉัยต้องยืนยันจากการตรวจขึ้นเนื้อ ซึ่งจำเป็นต้องพบก้อนเนื้อที่ผิดปกติก่อน ดังนั้นการพบก้อนเนื้อตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดให้หายขาดได้ อย่างที่ทราบ CXR เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งที่ไม่ดีนัก เนื่องจากไม่สามารถเห็นความผิดปกติในระยะแรกได้ จึงต้องอาศัยการตรวจที่ละเอียดขึ้น

ปัจจุบันจึงแนะนำการตรวจด้วย Low-Dose CT Chest screening (LDCT) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ ซึ่งจะเห็นรายละเอียดได้มากกว่า CXR ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งปอด อาจจะพิจารณาส่งตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, PET สแกน และส่องกล้องหลอดลม

การรักษามะเร็งปอด

การรักษามะเร็งปอดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อายุ สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย ชนิดและระยะของโรค หรือการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และคนในครอบครัวผู้ป่วย

  1. ผ่าตัด (Surgery): เพื่อนำเนื้องอกมะเร็งภายในปอดออก การผ่าตัดเป็นทางเลือกหลักสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเพราะสามารถหายขาดได้ ในบางกรณี อาจใช้การฉายแสงหรือใช้เคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัด
  2. บำบัดด้วยรังสี (Radiotherapy): ใช้รังสีที่มีพลังงานสูงเพื่อลดขนาดเนื้องอกโดยการฆ่าทำลายเซลล์มะเร็ง มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในช่วงก่อนหรือหลังการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีอาจเป็นทางเลือกหลักในการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม
  3. ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy): เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด
  4. ยาแบบมุ่งเป้า (Targetedtherapy): การรักษาด้วยยามุ่งเป้าจะเน้นการทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตที่ผิดปกติโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติข้างเคียง แต่จำเป็นต้องตรวจการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งก่อน
  5. ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy): อาศัยหลักการใช้ภูมิคุ้มกันเพื่อจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย
อาการมะเร็งตับ

มะเร็งตับระยะแรกๆ มักไม่มีอาการ แต่จะแสดงอาการในระยะสุดท้าย

  • ปวดท้อง
  • น้ำหนักลด
  • คลำเจอก้อนแข็งบริเวณท้องส่วนบน
  • ท้องมาน
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • เท้าบวม
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับ
  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ไวรัสตับอักเสบ และสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alpha-Fetoprotein)
  3. ตรวจทางรังสีที่ตับและช่องท้อง เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan และตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
  4. ตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา

การรักษามะเร็งตับ
  1. ผ่าตัด เช่น ตัดออกบางส่วน หรือปลูกถ่ายตับ สำหรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ จะสามารถทำได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนในตับขนาดน้อยกว่า 5 ซม. และต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี
  2. ทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งตับ เช่น ใช้ความร้อนแบบ Radiofrequency Ablation หรือ Microwave Ablation, รักษาด้วยการใช้ความเย็น, และรักษาด้วยการใช้แอลกอฮอล์
  3. ฉายรังสีจากภายนอกลำตัว เพื่อทำให้แสงรังสีมุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงต่อเนื้อเยื่อมะเร็งตับ โดยไม่ให้เกิดภาวะข้างเคียงต่ออวัยวะรอบข้าง
  4. รังสีวิทยา เช่น การใส่ยาคีโม การใส่สารรังสี เพื่อทำลายชิ้นเนื้อมะเร็งตับ
  5. ภูมิคุ้มกันบำบัด เช่น PD-1 and PD-L1 Inhibitors และ CTLA-4 Inhibitor
ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) คือ Kinase Inhibitor และ Monoclonal Antibodies
อาการมะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งปากมดลูกในระยะแรก จะไม่มีอาการอะไร
  • มีเลือดออกผิดปกติ โดยเฉพาะเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว เลือดออกเป็นระยะๆ ประจำเดือนมานานผิดปกติ
  • มีอาการตกขาว ซึ่งอาจจะมีเลือดปน
  • มีอาการเจ็บขณะมีเพสสัมพันธ์

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก
  1. ตรวจภายใน หากพบก้อนผิดปกติที่ปากมดลูก แพทย์จะตรวจยืนยันโดยการตัดชิ้นเนื้อบางส่วนไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
  2. ตรวจทางเซลล์วิทยา หรือแปปสเมียร์ เป็นการตรวจภายในร่วมกับการเก็บเอาเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจทางเซลวิทยา
  3. ตรวจด้วยกล้องขยาย หรือคอลโปสโคป ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
  4. การตราจอื่นๆ ที่อาจช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ การขูดภายในปากมดลูก การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด
การรักษามะเร็งปากมดลูก

ระยะที่ 1 : ผ่าตัด

ระยะที่ 2-3 : รังสีรักษา

ระยะที่ 4 : ยาเคมีบำบัด หรือให้การรักษาตามอาการ

อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่มีอาการชัดเจน ซึ่งหากหากเจาะเลือดตรวจก็จะพบค่ามะเร็งลำไส้ผิดปกติ (CEA) หรือเจาะเลือดตรวจสุขภาพอาจพบมีโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก มีภาวะสูญเสียเลือดทางเดินอาหาร มีอาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ อุจจาระมีเลือดปน มีท้องผูกเรื้อรังต้องใช้ยาระบายช่วย หรือมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ปวดหน่วงบริเวณทวาร ปวดเบ่ง มีภาวะท้องผูกแบบเฉียบพลัน อุจจาระลำเล็กลง

นอกจากนี้ รวมถึงน้ำหนักลดลงโดยหาสาเหตุอื่นไม่เจอ ในบางกรณีที่ก้อนมีขนาดใหญ่จะสามารถคลำก้อนได้ในช่วงท้อง และอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เนื่องจากการกดเบียดของก้อนเนื้อ

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

จากการแนะนำของแพทย์มักพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีประวัติลำไส้อักเสบเรื้อรัง และมีประวัติตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ (Adenomatous polyp) ควรตรวจคัดกรองตั้งแต่ช่วงอายุ 45-50 ปีขึ้นไป โดยการตรวจคัดกรองสามารถทำได้หลายวิธี เช่น มีการตรวจโดยการเก็บอุจจาระดูเม็ดเลือดแดงแฝง, การส่องกล้องลำไส้ใหญ่, การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตรวจดูลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ไม่แนะนำการเจาะเลือดตรวจดูค่ามะเร็งลำไส้ (CEA) เพียงอย่างเดียว

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
  1. การผ่าตัด โดยแพทย์จะตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออกไป กรณีมะเร็งลุกลามในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นต้องทำทวารเทียมเพื่อเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
  2. รังสีรักษา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ กรณีลุกลามมีโอกาสแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง การฉายรังสีรักษาใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายรังสีวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์

เคมีบำบัด คือการให้ยาสารเคมี ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัดหรืออาจจะหลังผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา โดยผู้ป่วยบางรายอาจไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของมะเร็งแต่ละบุคคลต่างกัน

เครื่องฉายรังสี

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลไทยนครินทร์ พร้อมให้บริการแล้ววันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งทุกสิทธิ์ สามารถเข้าถึงการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ผ่านเครือข่าย Eastern Cancer Network ซึ่งประกอบด้วย โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์, โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา (CAH) และสหคลินิกฉะเชิงเทรา(SCC)

ปัจจุบันเทคโนโลยีของเครื่องฉายรังสีมีการพัฒนาไปมาก ทำให้ได้การรักษาที่แม่นยำ สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้นและลดผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ โรคมะเร็งกับการฉายรังสีรักษา 

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งลำไส้
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งศีรษะและลำคอ 
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งหลอดอาหาร
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งสมอง

รังสีรักษามี 2 รูปแบบ

1. การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy)

เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ออกมาจากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย โดยเริ่มจากการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองการรักษา (CT Simulator) เพื่อระบุตำแหน่ง ขอบเขต ขนาดของรอยโรคและอวัยวะข้างเคียง โดยแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์จะนำภาพที่ได้ไปจำลองแผนการรักษา ขั้นตอนต่อมาจะนำแผนการรักษาที่วางไว้มาฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี (Linear Accelerator) โดยมีเทคนิคการฉายรังสี เช่น การฉายรังสีแบบสามมิติ (3DCRT), การฉายรังสีแปรความเข้มแบบหมุนรอบตัว (VMAT), การฉายรังสีร่วมพิกัด (SBRT) โดยแพทย์จะเลือกเทคนิคที่เหมาะสมกับตัวโรคและผู้ป่วยทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และใช้เวลาไม่นาน

2. การฉายรังสีระยะใกล้หรือการใส่แร่ (Brachytherapy)

เป็นการใส่ต้นกำเนิดของรังสีภายในก้อนมะเร็งโดยตรงหรือใกล้ๆกับก้อนมะเร็ง การเลือกวิธีฝังแร่ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ตำแหน่ง ขนาด และระยะของโรค เป็นต้น เพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสม และการใส่แร่อาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการฉายรังสีภายนอก หรือการผ่าตัด

ขั้นตอนการฉายรังสี

  1. แพทย์ประเมินสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยก่อนเริ่มทำการรักษาและพูดคุยถึงแนวทางการรักษา
  2. จากนั้น นัดผู้ป่วยจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อนำภาพมาวางแผนการฉายรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์
  3. ระหว่างการฉายรังสีผู้ป่วยจะถูกจัดตำแหน่งให้อยู่นิ่งด้วยอุปกรณ์ยึดตรึง โดยนักรังสีรักษาจะทำการตรวจสอบตำแหน่งก่อนฉายรังสีทุกครั้ง
  4. การฉายรังสีจะใช้เวลาวันละประมาณ 15-20 นาที โดยจะฉายสัปดาห์ละ 5 วัน ใช้เวลาประมาณ 4-8 สัปดาห์ ตามแต่ละชนิดของโรคและแผนการรักษาของแพทย์ 

เทคโนโลยีทางการแพทย์

เครื่องจำลองการรักษา (Philip; Big bore radiation therapy)

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography scanner and simulator) ที่ใช้จำลองภาพ 3 มิติ เพื่อระบุตำแหน่ง รูปร่างและขนาดของก้อนมะเร็ง ตลอดจนอวัยวะใกล้เคียง โดยเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อวางแผนการรักษา (Treatment planning system) ทำให้แพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์สามารถวางแผนขนาดและทิศทางของลำรังสีได้ชัดเจน

เครื่องเร่งอนุภาค (Varian; Vital Beam)

เครื่องฉายรังสีที่ใช้รังสีเอกซเรย์พลังงานสูงสามารถปรับรูปแบบลำรังสีให้เหมาะกับขนาดและรูปร่างของก้อนมะเร็ง โดยจะทำลายเซลล์มะเร็งในขณะที่อวัยวะปกติข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อย ใช้ระยะเวลาในการฉายรังสี 10-15 นาทีต่อครั้ง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล

Vital Beam

เทคนิคการฉายรังสี

Three Dimensional Conformal Radiotherapy (3D-CRT)

เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติ คือ การรักษาที่ใช้ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทำให้เห็นก้อนเนื้องอกและอวัยวะปกติในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อกำหนดขอบเขตการรักษาจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยวิธี CT simulation จะทำให้ปริมาณรังสีกระจายอย่างสม่ำเสมอ มีความถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถให้ปริมาณรังสีสูงเฉพาะบริเวณเซลล์มะเร็ง และลดปริมาณรังสีที่จะกระทบเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ เซลล์มะเร็ง

Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT)

เทคนิคการฉายรังสี 3 มิติแบบปรับความเข้ม คือ พัฒนาการอีกระดับของการฉายรังสี 3 มิติ (3D-CRT) สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ เป็นวิธีการที่ใช้ปริมาณรังสีที่มีความเข้มต่างกัน และยังประกอบด้วยลำรังสีขนาดต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้น ๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม

Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT)

เทคนิคใหม่ล่าสุดของการฉายรังสี ซึ่งพัฒนามาจากเทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT มีการปรับความเข้มของลำรังสี สามารถควบคุมความเร็วของการหมุน ปริมาณของรังสี และการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสี (MLC) จึงช่วยลดระยะเวลาของการฉายรังสี และลดความผิดพลาดที่เกิดจากการขยับตัวของผู้เข้ารับบริการอีกด้วย รวมทั้งทำให้การฉายรังสีมีความถูกต้องแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนา-บางของก้อนมะเร็งได้ ทำให้ครอบคลุมบริเวณรอยโรคได้มากที่สุด ส่งผลให้อวัยวะโดยรอบของก้อนมะเร็งนั้นๆ ได้รับรังสีน้อยกว่าเทคนิคการฉายรังสีแบบเดิม

Radiosurgery

รังสีศัลยกรรมหรือรังสีร่วมพิกัด คือการรักษาโดยการให้รังสีเอกซ์ปริมาณสูงไปยังเป้าหมายด้วยความแม่นยำ จุดประสงค์เพื่อทำลายก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง ใช้เป็นทั้งการรักษาหลักในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้เป็นการรักษาเสริมภายหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ทั้งบริเวณสมอง ไขสันหลัง (SRS/SRT)และบริเวณลำตัว (SBRT) เช่น ปอดและตับ โดยรังสีศัลยกรรมมีความแตกต่างจากการฉายรังสีแบบทั่วไป คือจะมีการใช้ปริมาณรังสีต่อครั้งที่สูงกว่า แต่จำนวนครั้งของการฉายรังสีจะน้อยกว่า นอกจากนี้ รังสีศัลยกรรมสามารถจำกัดรังสีปริมาณสูงให้อยู่เฉพาะบริเวณก้อนเนื้องอก หรือมะเร็งได้ดีกว่าการฉายรังสีแบบทั่วไป

Stereotactic Radiotherapy (SRT)

การฉายรังสีปริมาณสูงจำนวน 3-7 ครั้งที่ก้อนเนื้องอกบริเวณศีรษะ หรือไขสันหลัง เพื่อลดผลข้างเคียงจากวิธีฉายรังสีแบบครั้งเดียว แต่มีข้อจำกัดคือต้องมีอุปกรณ์ที่จำเพาะ ซึ่งทำให้สามารถจัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ

Stereotactic Body Radiation Therapy (SBRT)

การฉายรังสีปริมาณสูงที่ก้อนบริเวณลำตัว เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น โดยใช้รังสีจำนวน 3-7 ครั้ง